คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2272/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารแล่นตามกันไปในขบวนซึ่งมีรถวิทยุตำรวจทางหลวงเปิดไฟสัญญาวับวาบ แล่นนำหน้า เชื่อได้ว่ารถที่จำเลยที่ 1 ขับนั้นแล่นด้วยความเร็วตามอัตราที่กฎหมายกำหนดและอยู่ในช่อง ทางเดินรถที่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแซง ขบวนรถไปอยู่ที่ไหล่ถนนด้านซ้าย แล้วขับขึ้นจากไหล่ถนนโดย กระชั้นชิด และด้วยความเร็วสูง โดยไม่ระมัดระวังเช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจคาดหมายหรือให้สัญญาณเพื่อให้ใช้ความระมัดระวังอย่างใดได้ทัน เหตุชนกันจึงมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ถือว่าเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 2แต่เพียงฝ่ายเดียว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารพาครูและนักเรียนไปทัศนาจร มีรถร่วมขบวน 7 คัน โดยมีรถวิทยุตำรวจทางหลวงวิ่งนำหน้าเปิดสัญญาณตลอดทาง จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแล่นตามหลัง จำเลยทั้งสองขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยจำเลยที่ 2 ขับรถแซงเข้าไปในขบวน แล้วไม่หลบเข้าจอดด้านซ้ายมือกลับขับแซงเข้ามาในขบวนอีก จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้สัญญาณ และไม่ได้ควบคุมรถด้วยความระมัดระวัง แซงรถจำเลยที่ 2 ขึ้นไปเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน รถจำเลยที่ 2 เสียหลักแฉลบพลิกคว่ำข้างถนน จำเลยที่ 2 กับนายแพทย์วัฒนา พิพัฒน์พันธ์ ได้รับบาดเจ็บ และรถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่ได้หยุดรถช่วยเหลือ และไม่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 76, 78,127, 148, 152, 157, 160 โดยขอให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การรับสารภาพในระหว่างการพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา ลงโทษจำเลยทั้งสองคนละ 20 วัน(ที่ถูกเป็นลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 20 วัน) และปรับคนละ 800บาท จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานไม่หยุดช่วยเหลือและแจ้งเหตุอีกกระทงหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 78, 160 จำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานไม่หยุดรถชิดขอบทางตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 76, 148 อีกกระทงหนึ่งให้ปรับ 400 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 1 เดือน 20 วัน และปรับ1,800 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 20 วันและปรับ 1,200 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 10 วันและปรับ 600 บาท จำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนให้รอการลงโทษไว้คนละ 1 ปี ค่าปรับไม่ชำระให้กักขังแทน ข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127, 152 สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางลก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคหนึ่ง ส่วนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า จำเลยที่ 1ได้ขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 และนายแพทย์วัฒนาพิพัฒน์พันธ์ บาดเจ็บและรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับเสียหายหรือไม่โจทก์มีนางสดศรี ปั้นทอง ครูโรงเรียนฤทธิณรงค์รอน ซึ่งนั่งไปในรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ เบิกความได้ความว่ารถที่จำเลยที่ 1 ขับแล่นตามกันไปในขบวนซึ่งมีรถวิทยุตำรวจทางหลวงเปิดสัญญาณไฟวับวาบแล่นนำหน้า ตอนชนกันรถที่จำเลยที่ 2 ขับแล่นอยู่ทางซ้ายมือของรถที่จำเลยที่ 1 ขับ ซึ่งเกี่ยวกับรถที่จำเลยที่ 2 ขับนี้จำเลยที่ 1เบิกความได้ความว่าขณะจะเกิดเหตุรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับแล่นตามหลังรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับมาประมาณ 10 นาทีเศษแล้วขับแซงรถที่จำเลยที่ 1 ขับ ซึ่งเป็นคันที่ 6 ในขบวน ขึ้นไปจนพ้นรถคันที่4 จากนั้นรถที่จำเลยที่ 2 ขับได้หลบลงไปแล่นที่ไหล่ทางด้านซ้ายซึ่งทำด้วยลูกรัง รถคันที่ 4 ที่ 5 และรถที่จำเลยที่ 1 ขับซึ่งเป็นรถคันที่ 6 จึงได้แล่นแซงขึ้นหน้า ขณะนั้นรถที่จำเลยที่ 1 ขับอยู่ในทางเดินรถด้านซ้าย ศาลฎีกาเห็นว่ารถยนต์โดยสารจำเลยที่ 1เป็นรถที่ขับแล่นตามกันไปในขบวนซึ่งมีรถวิทยุตำรวจทางหลวงเปิดไฟสัญญาณวับวาบแล่นนำหน้า เชื่อว่ารถที่จำเลยที่ 1 ขับนั้นแล่นด้วยความเร็วตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และอยู่ในช่องทางเดินรถที่ถูกต้องศาลฎีกาตรวจดูแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ป.จ.3 และ จ.6 ที่จำเลยที่1 และจำเลยที่ 2 นำชี้ตามลำดับแล้ว ปรากฏสารสำคัญที่ตรงกันประการหนึ่ง คือ รอยเบรกของรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับยาว 24 เมตรเศษ จนตกไปที่ไหล่ถนนอีกฟากหนึ่ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูงนอกจากนี้ตัวจำเลยที่ 2 เองยังเบิกความเจือสมกับพยานโจทก์ตอนหนึ่งว่า จำเลยที่ 2 ขับรถขึ้นไปบนถนนกระชั้นชิดมาก จำเลยที่ 2 ไม่ทันสังเกต แสดงว่าจำเลยที่ 2 ขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง การที่จำเลยที่ 1 ขับรถแล่นไปในขบวนด้วยความเร็วตามปกติและในช่องทางเดินรถที่ถูกต้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ขับรถขึ้นจากไหล่ถนนโดยกระชั้นชิดและด้วยความเร็วสูงโดยไม่ระมัดระวังเช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจคาดหมายหรือให้สัญญาณเพื่อให้ใช้ความระมัดระวังอย่างใดได้ทัน เหตุชนกันจึงมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ถือว่าเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share