คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 อันเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ จำเลยมีภูมิลำเนาอันเป็นถิ่นที่อยู่ปกติที่จังหวัดลพบุรีและกระทำความผิดในท้องที่จังหวัดลพบุรีซึ่งยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดดำเนินการ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3)
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) ที่ว่า ในกรณีคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ถ้าไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจพิจารณาคดี หมายถึง กรณีคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดที่ไม่มีบทกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องอำนาจศาลไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซึ่งมี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 7 (1) บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้คดีลักษณะนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเว้นแต่จะเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว เมื่อคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวแล้ว ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าวคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
กรณีที่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี เท่านั้นแต่ให้บรรดาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวจะยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้ ซึ่งหมายความว่าหากมีการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค โดยระบุเขตศาลและที่ตั้งศาลขึ้นตามมาตรา 6 แล้ว คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคที่จัดตั้งขึ้นแล้วนั้นสามารถยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะรับหรือไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้เมื่อคดีนี้เหตุเกิดในท้องที่จังหวัดลพบุรีและยังไม่มีการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคใดขึ้นเลย จึงยังใช้บทบัญญัติในการยื่นฟ้องคดีตามมาตรา 5 วรรคสอง ดังกล่าวแล้วไม่ได้ก็ตาม แต่ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติเป็นบทเฉพาะกาลไว้ว่าในระหว่างที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใดให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตในท้องที่นั้นด้วย และในคดีอาญาโจทก์จะยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นก็ได้ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือ ณ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควร โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดลพบุรีและศาลดังกล่าวแจ้งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคดีนี้ไว้และพิจารณาพิพากษา จึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 47 ดังกล่าว และคดีนี้มิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดลพบุรีด้วย

ย่อยาว

โจทก์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 15, 31, 70, 75, 76 ให้แผ่นซีดีเพลงของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31, 70 วรรคสอง ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 3 เดือน และปรับ 63,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 31,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งให้เจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะที่จำเลยกระทำความผิดและถูกฟ้องคดีนี้จำเลยเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี แต่ท้องที่ที่จำเลยมีถิ่นที่อยู่ตามปกติ ท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิด และท้องที่ที่จำเลยถูกจับกุมอยู่ในเขตจังหวัดลพบุรีซึ่งไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) ซึ่งได้แก่ศาลจังหวัดลพบุรีนั้น ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 อันเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ จำเลยมีภูมิลำเนาอันเป็นถิ่นที่อยู่ปกติที่จังหวัดลพบุรีและกระทำความผิดในท้องที่จังหวัดลพบุรีซึ่งยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดดำเนินการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) ส่วนปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดลพบุรีหรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศนั้น เห็นว่า บทกฎหมายตามพระราชบัญัญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) ที่ว่า ในกรณีคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ถ้าไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนั้น หมายถึง กรณีคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดที่ไม่มีบทกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องอำนาจศาลไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ อันเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซึ่งมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 7 (1) บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้คดีลักษณะนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเว้นแต่จะเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว เมื่อคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนกรณีที่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานครจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี เท่านั้น แต่ให้บรรดาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวจะยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้ซึ่งหมายความว่าหากมีการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค โดยระบุเขตศาลและที่ตั้งศาลขึ้นตามมาตรา 6 แล้ว คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคที่จัดตั้งขึ้นแล้วนั้นสามารถยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะรับหรือไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ ซึ่งเมื่อคดีนี้เหตุเกิดในท้องที่จังหวัดลพบุรีและยังไม่มีการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคใดขึ้นเลย จึงยังใช้บทบัญญัติในการยื่นฟ้องคดีตามมาตรา 5 วรรคสองดังกล่าวแล้วไม่ได้ก็ตาม แต่ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติเป็นบทเฉพาะกาลไว้ว่าในระหว่างที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใดให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตในท้องที่นั้นด้วย และในคดีอาญาโจทก์จะยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือ ณ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควร ดังนั้น เมื่อคดีนี้ความผิดเกิดขึ้นในจังหวัดลพบุรี โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดลพบุรีและศาลดังกล่าวแจ้งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคดีนี้ไว้และพิจารณาพิพากษาจึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 47 ดังกล่าวด้วย คดีนี้จึงมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดลพบุรี ดังเช่นที่จำเลยอุทธรณ์
พิพากษายืน.

Share