แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บริษัท อ. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 แล้วได้โอนขายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้จำเลยที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2516 จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนโจทก์ แม้โจทก์จะไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นก่อน จำเลยที่ 1 ก็ฟ้องแย้งขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดไว้ได้.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “HARRIS” และจำเลยทั้งสองทราบดีว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อฉวยโอกาสนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปใช้ประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 ในอนาคต ทำให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”HARRIS” ดีกว่าจำเลย และให้จำเลยทั้งสองถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 121850 และเลขที่ 129220 ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “HARRIS” ไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของจำเลยที่ 1 คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นด้วยนิมิตสิทธิ และได้ใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 1 มีจำหน่ายแพร่หลายมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โจทก์เคยเป็นลูกค้าซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงทราบดีว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 126353 เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 121850 ก่อนโจทก์ยื่นคำขอเลขที่ 126353 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 โดยที่คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 118804และคำขอเลขที่ 126353 ของโจทก์ จำเลยคัดค้านและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ากำลังพิจารณาดำเนินการอยู่ ส่วนคำขอเลขที่ 119920นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้โจทก์แล้วตามทะเบียนเลขที่ 75517 จำเลยจึงฟ้องแย้ง ขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอดังกล่าว และสั่งห้ามไม่ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนการค้าตามคำขอทั้งสอง และเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่75517 กับห้ามมิให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “HARRIS” กับสินค้าทุกชนิด พร้อมทั้งเก็บและทำลายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วย กับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งทำนองเดียวกับที่กล่าวในฟ้อง และต่อสู้ว่าโจทก์ไม่เคยเป็นลูกค้าจำเลย โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยสุจริตและนายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์โดยสุจริตมิได้กระทำโดยสำคัญผิด จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งและบังคับโจทก์ตามคำขอ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ดำเนินการเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 118804 กับคำขอเลขที่ 126353และเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 75517 ของโจทก์ ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน คำขออื่นยกฟ้องแย้งให้ยก
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนดำเนินการเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยเครื่องหมายการค้าพิพาทคำว่า “HARRIS” อ่านว่า “ฮาร์ริส” ไม่มีคำแปล เดิมโจทก์ได้ขอจดทะเบียนไว้ 2 คำขอ ในสินค้าจำพวก 5 และ 6ตามคำขอเอกสารหมาย ล.11 และ ล.13 คำขอตามเอกสารหมาย ล.11นายทะเบียนรับจดทะเบียนไว้แล้ว ตามหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนเลขที่75517 เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2524 และวันที่30 ธันวาคม 2524 จำเลยที่ 1 โดยนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ตัวแทนจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวก 13 และจำพวก 8 ตามคำขอเอกสารหมาย ล.1 และ ล.4 อีก 2 คำขอโจทก์ยื่นคำคัดค้านทั้งสองคำขอตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4(แผ่นที่ 3) วันที่ 20 กันยายน 2525 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวก 8 ตามคำขอเลขที่ 126353 เอกสารหมาย จ.5 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้อ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.7 หลังจากจำเลยที่ 1 ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนแล้ว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์2526 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวก 8 นี้อีก ตามคำขอเอกสารหมาย ล.2นายทะเบียนยังไม่รับจดทะเบียนให้อ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนตามคำขอเอกสารหมาย จ.5…
สำหรับปัญหาที่ว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากันนั้น โจทก์มีนายไพโรจน์ อภินรเศรษฐ์ เป็นพยานเบิกความว่า นายโจว ชิง ฉวน ประธานกรรมการบริษัทฮาร์ริสเอ็นจิเนียริงเวอร์ค จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้ในประเทศนั้นแล้วตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาบริษัทดังกล่าวตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทดังกล่าวในประเทศไทย และบริษัทดังกล่าวมอบฉันทะให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยแต่ตามเอกสารหมาย จ.2 นั้นปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวเพิ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในปี พ.ศ. 2523 และตามเอกสารหมาย จ.3บริษัทดังกล่าวเพิ่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนในปี พ.ศ. 2524 นี้เอง ที่พยานปากนี้อ้างว่าบริษัทดังกล่าวมอบฉันทะให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหลักฐานมาสนับสนุนข้ออ้างนี้แต่ประการใด ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีหลักฐานประกอบรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทนั้นจำเลยที่ 1 ใช้มา 10 ปีเศษแล้ว และบริษัทฮาร์ริส คาโลริฟิค จำกัด ซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ตามเอกสารหมาย ล.6 ได้โอนขายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2516 ตามหนังสือโอนสิทธิเอกสารหมาย ล.7 ทั้งจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ไว้ที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. 2519 ตามเอกสารหมาย ล.8 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังมอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแหลมทองผลิตภัณฑ์แก๊ส เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1ภายใต้เครื่องหมายการค้าพิพาทนี้ และห้างดังกล่าวได้ขายสินค้าให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เลิศวิลัยพาณิชย์ตามเอกสารหมาย ล.10 พยานโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน