คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2243/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ต่อมาจำเลยถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 จึงไม่อาจเนรเทศจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 มาตรา 5 วรรคสอง ดังนี้การที่เจ้าพนักงานคุมขังจำเลยไว้เพื่อการเนรเทศจึงเป็นการคุมขังไว้โดยไม่ชอบเมื่อจำเลยหลบหนีไประหว่างการคุมขังดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนต่างด้าวสัญชาติเวียตนาม ถูกคุมขังเพื่อรอการส่งตัวออกไปนอกราชอาณาจักร (เนรเทศ) จำเลยหลบหนีไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 190
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นคนต่างด้าวเนื่องจากถูกถอนสัญชาติไทยจำเลยเคยได้สัญชาติไทยดดยการเกิดมาก่อนจึงไม่อาจถูกเนรเทศได้ การคุมขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่าจำเลยเป็นบุตรคนญวนซึ่งอพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2488 จำเลยเกิดที่อำเภอเมืองอุบลราชธานีเมื่อ พ.ศ. 2495 และถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 เจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองเห็นว่า จำเลยถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวจึงจับตัวจำเลยส่งไปคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพิบูลมังสาหารเพื่อรอการส่งตัวออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเห็นว่าจำเลยเป็นคนสัญชาติเวียตนามจำเลยได้หลบหนีไปจากที่คุงขังดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยคดีนี้ ปัญหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น จำต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าการที่จำเลยถูกคุมขังเพื่อรอการส่งตัวออกไปนอกราชอาณาจักร (เนรเทศ) นั้น เป็นการคุมขังไว้ดดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเกิดที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2495 จำเลยเกิดในราชอาณาจักรไทย จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3 อนุมาตรา 3 แม้ต่อมาจะปรากฏว่าจำเลยถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่13 ธันวาคม 2515 ก็ตาม แต่การที่จะส่งจำเลยออกไปนอกราชอาณาจักร (เนรเทศ)ดังโจทก์ฟ้องนั้น จำต้องพิจารณาถึงพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 ซึ่งความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าววรรคแรกบัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควรอนึ่ง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้” และความในวรรคสองบัญญัติว่า “ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด” กรณีของจำเลยแม้จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยเคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิดดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ฉะนั้นจึงไม่อาจเนรเทศจำเลยได้ ตามความในวรรคสองแห่งบทกฎหมายดังกล่าวเมื่อไม่อาจเนรเทศจำเลยได้ ดังนี้ การที่เจ้าพนักงานคุมขังจำเลยไว้เพื่อการเนรเทศจึงเป็นการคุมขังไว้โดยไม่ชอบเมื่อจำเลยหลบหนีไประหว่างการคุมขังดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดดังโจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน

Share