แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอยื่นคำให้การของจำเลยได้ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226
ย่อยาว
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 8,124,376 บาท 30 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ขอให้สั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 นั้น เห็นว่าคำร้องของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอยื่นคำให้การของจำเลยโดยฟังว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความจะอุทธรณ์คำสั่งนี้ได้ ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ข้อเท็จจริงตามท้องสำนวนได้ความว่า ศาลชั้นต้นนัดฟังคำสั่งเรื่องนี้ในวันที่ 24 กันยายน 2522 เวลา 13.30 นาฬิกา จำเลยทราบวันเวลานัดแล้วไม่มาฟังคำสั่งศาลชั้นต้นจึงอ่านคำสั่งให้โจทก์ฟังฝ่ายเดียวโดยถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งด้วยแล้วในวันนั้น แล้วนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปในวันที่ 25 ตุลาคม 2522 เวลา 13.30 นาฬิกา ครั้นถึงวันเวลานัดสืบพยานโจทก์ จำเลยก็ไม่มาศาลอีกโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องทั้ง ๆ ที่ทราบวันเวลานัดแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จและมีคำพิพากษาในวันนั้นเป็นที่เห็นได้ว่านับแต่วันที่ถือได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอยื่นคำให้การจนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์และศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226”
พิพากษายืน