คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2218/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 แม้เป็นคำซัดทอดก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ให้มีน้ำหนักได้ แต่ถ้าคำซัดทอดนั้นกระทำเพื่อให้ผู้ซัดทอดพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์ คำซัดทอดนั้นย่อมไม่มีน้ำหนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้รับประโยชน์จากการซัดทอดถึงจำเลยที่ 2 ทั้งมีเหตุผลอยู่ในตัวว่าหากจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำผิดก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ให้การพาดพิงถึงจนกระทั่งเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนการให้จำเลยที่ 1 นัดหมายให้จำเลยที่2 ออกจากบ้านมาเพื่อพบตนและถูกจับได้ แสดงให้เห็นว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ 2 มีความจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ได้ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ ๑ เอาลูกระเบิดไปขว้างทำลายทรัพย์และโรงเรือนที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายเพื่อขู่เข็ญให้เกิดความกลัวและกรรโชกข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลย จำเลยที่ ๑ ได้กระทำตามที่จำเลยที่ ๒ ใช้จ้างวาน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๔, ๙๑,๒๑๗, ๒๑๘, ๒๒๒, ๓๓๗, ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔,๗, ๘ ทวิ ๓๘, ๕๕, ๗๒, ๗๒ ทวิ ๗๔, ๗๘ และริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๒, ๒๑๘ จำคุกคนละ ๑๕ ปี ผิดตามมาตรา ๓๓๗วรรคสอง จำคุกคนละ ๔ ปี จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๕๕, ๗๒, ๗๒ ทวิ วรรคสอง และ ๗๘ฐานมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนจำคุก ๒ ปี ฐานมีวัตถุระเบิดเครื่องกระสุนปืน จำคุก ๒ กระทง กระทงละ ๒ ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก ๒ กระทง กระทงละ ๑ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒๗ ปี จำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑๙ ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้จำเลยที่ ๑ กึ่งหนึ่ง และให้จำเลยที่ ๒ หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๑ไว้ ๑๓ ปี ๖ เดือน จำเลยที่ ๒ ไว้ ๑๒ ปี ๘ เดือน ของกลางให้ริบ
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ คือ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ เอกสารหมาย จ.๒๙ กับคำให้การรับสารภาพ ชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๒ เอกสารหมาย จ.๓๙ ซึ่งมีข้อความสอดคล้องกันนอกจากเอกสารดังกล่าวโจทก์มีพยานบุคคลคือนายสุรชัย ลีรุ่งเรืองผู้เสียหายกับร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์ พุทธพงษ์ พลตำรวจสมเกียรติ ผ่องเกต พันตำรวจเอกกระเษม บูรณะปัทมะและพันตำรวจโทสุระ จิเจริญ มาสืบเป็นใจความว่าผู้เสียหายกับจำเลยที่ ๒ และนายสุรพงษ์พี่ชายจำเลยที่ ๒ เคยเป็นหุ้นส่วนกันและจำเลยที่ ๒ เคยทำงานที่บริษัทลีรุ่งเรือง จำกัด ด้วยต่อมาผู้เสียหายซื้อหุ้นจากจำเลยที่ ๒ และนายสุรพงษ์จากนั้นทั้งจำเลยที่ ๒ และนายสุรพงษ์ก็ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทลีรุ่งเรือง จำกัด อีกเป็นเวลาปีเศษแล้วจึงเกิดเหตุคดีนี้ หลังจากมีเหตุขว้างระเบิดแล้วจำเลยที่ ๑พูดโทรศัพท์ขู่เรียกเอาเงินจากผู้เสียหายจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาทหลายครั้งในเวลาหลายวัน เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนดักจับจำเลยที่๑ ขณะจำเลยที่ ๑ ใช้เครื่องโทรศัพท์จากตู้สาธารณะปากซอยลาดพร้าว ๑๓๖ พูดขู่เอาเงินผู้เสียหายจำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ วางแผนการขว้างระเบิดและขู่เอาเงินจากผู้เสียหาย จากนั้นได้นำจำเลยที่ ๑ ไปสอบสวนที่ห้องพักในโรงแรมปิปอิน แล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้วางแผนจับจำเลยที่ ๒ โดยให้จำเลยที่ ๑ พูดโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ ๒ เป็นใจความว่า ผู้เสียหายรวบรวมเงินได้ ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาทแล้ว จำเลยที่ ๑ต้องการเงินค่าใช้จ่ายอีก ให้จำเลยที่ ๒ นำเงินมาให้ที่ร้านอาหารบัวบานในเวลาระหว่าง ๒๐ ถึง ๒๐.๓๐ นาฬิกา วันนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้บันทึกเสียงพูดโต้ตอบกันระหว่างจำเลยทั้งสองไว้ในแถบบันทึกเสียงหมาย จ.๑ และวางกำลังคอยดักจับจำเลยที่ ๒ เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านทิพวัลย์เจ้าพนักงานตำรวจกับพวกเห็นจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ลักษณะเดียวกับที่สืบทราบมาออกจากปากทางเข้าหมู่บ้านดังกล่าวไปแวะเติมน้ำมันที่ปั๊มแห่งหนึ่งใกล้ร้านอาหารบัวบานเจ้าพนักงานตำรวจจึงตามไปจับจำเลยที่ ๒ ได้ นำตัวไปสอบสวนที่ห้องพักโรงแรมปิปอินและบันทึกไว้ ครั้งแรกจำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพแต่ไม่ยอมให้การโดยละเอียดและไม่ยอมลงชื่อ จากนั้นได้นำตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมที่สถานีตำรวจวันที่ ๗ เดือนเดียวกันได้ให้จำเลยที่ ๑ ชี้ตัวจำเลยที่ ๒ บันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.๓๔ และถ่ายภาพไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.๒๔พนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยที่ ๒ เพิ่มเติม จำเลยที่ ๒ จึงยอมให้การโดยละเอียดและชี้ที่เกิดเหตุให้ถ่ายภาพไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.๓๕ จ.๓๖ จ.๓๗ ทั้งพนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกการชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้ตามเอกสารหมาย จ.๓๘ พิเคราะห์พยานเอกสาร พยานบุคคล และแถบบันทึกเสียงหมาย จ.๑ประกอบกันแล้ว เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวรับฟังได้สอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้กระทำผิดดังฟ้องโจทก์และฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนตามความสัตย์จริงโดยสมัครใจ ใช้ยันจำเลยที่ ๒ในชั้นพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา๑๓๔, ๒๒๖ ส่วนคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย จ.๒๙ แม้เป็นคำซัดทอดก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ให้มีน้ำหนักได้ เหตุผลสำคัญที่อาจทำให้คำซัดทอดไม่มีน้ำหนักน่าจะเนื่องจากคำซัดทอดนั้นกระทำเพื่อให้ผู้ซัดทอดพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์ แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้รับประโยชน์จากการซัดทอดถึงจำเลยที่ ๒ แต่ประการใด ทั้งมีเหตุผลอยู่ในตัวว่า หากจำเลยที่ ๒มิได้ร่วมกระทำผิดก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ให้การพาดพิงถึงจนกระทั่งเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนการให้จำเลยที่ ๑ นัดหมายให้จำเลยที่ ๒ ออกจากบ้านมาเพื่อพบตนและถูกจับได้ ทั้งการที่เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนจับกุมจนจับจำเลยที่ ๒ ได้ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจกระทำไปเพราะมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยที่ ๒ หรือสงสัยมาก่อนว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกระทำผิดคดีนี้ แต่เป็นการวางแผนจับกุมขึ้นเนื่องจากได้ทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ ๒ จากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ เมื่อจับจำเลยที่ ๒ ได้ตามแผนการดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ เมื่อจับจำเลยที่ ๒ ได้ตามแผนการดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ ในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ ๒ มีความจริง นอกจากพยานโจทก์ดังได้กล่าวมาแล้ว โจทก์ได้ส่งบันทึกเอกสารหมาย จ.๔๓ ประกอบการซักค้านจำเลยที่ ๑ ขณะเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ ๒ ซึ่งเอกสารดังกล่าวจำเลยที่ ๑ รับว่าได้บันทึกด้วยลายมือของตนเอง มีใจความว่าจำเลยที่ ๒ ใช้ให้จำเลยที่ ๑ ทำการวางระเบิดขู่เข็ญให้ผู้เสียหายส่งเงินให้ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากเป็นพยานหลักฐานที่ทำลายน้ำหนักคำเบิกความของจำเลยที่ ๑ที่เบิกความว่าจำเลยที่ ๒ มิได้ร่วมกระทำผิดแล้ว กลับสนับสนุนพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นให้มีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟังยิ่งขึ้นส่วนที่จำเลยที่ ๒ นำสืบว่า เจ้าพนักงานตำรวจจัดทำแถบบันทึกเสียงหมาย จ.๑ ขึ้นเองนั้น จำเลยที่ ๒ ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ สนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวทั้งไม่มีเหตุผลใดๆ อันชวนให้น่าคิดว่าเจ้าพนักงานตำรวจสร้างพยานหลักฐานดังกล่าวขึ้นปรักปรำจำเลยที่ ๒ และหากเจ้าพนักงานตำรวจทำแถบบันทึกเสียงดังกล่าวขึ้นจริงก็น่าจะทำโดยให้มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองนัดพบกันที่ปั๊มน้ำมันซึ่งย่อมจะสอดคล้องกับข้อเท็จจรงที่เกิดขึ้นก่อนยิ่งกว่าการนัดพบกันที่ร้านอาหารบัวบานเป็นแน่ พยานจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ เชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๒, ๒๑๘ ลงโทษจำคุก ๑๕ ปี และมีความผิดตามมาตรา ๓๓๗ วรรคสอง ลงโทษจำคุก ๔ ปี รวมสองกระทงเป็นจำคุก ๑๙ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑๒ ปี ๘ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share