คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วัตถุประสงค์ของ รัฐวิสาหกิจ ที่ระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้งเป็นเพียงการกำหนดประเภทของกิจการซึ่ง รัฐวิสาหกิจจะดำเนินการเท่านั้น งานของ รัฐวิสาหกิจ หาได้ จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะ เท่าที่ระบุไว้ดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนังพ.ศ. 2498 ไม่ได้กำหนดให้องค์การฟอกหนังมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกีฬาก็ตาม แต่ เมื่อผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังมีนโยบายที่จะเชื่อมความสามัคคีระหว่างองค์การฟอกหนังกับรัฐวิสาหกิจอื่นโดยยอมรับการแข่งขันกีฬาเป็นสื่อ สัมพันธ์แล้ว การกีฬาจึงเป็นงานอย่างหนึ่งขององค์การฟอกหนัง การที่ผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังแต่งตั้ง ผู้ตายเป็นนักกีฬาตัวแทนขององค์การฯ โดย ให้มีสิทธิฝึกซ้อม เมื่อใดก็ได้ ภายในช่วงเวลาที่กำหนด ถือได้ว่าผู้ตายได้รับมอบหมายให้ทำงานแก่องค์การฟอกหนังแล้ว เมื่อผู้ตายถึง แก่ความตายขณะฝึกซ้อมกีฬาเนื่องจากออกกำลังกาย เกินควร ย่อมเป็นกรณีผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์ซึ่ง เป็นทายาทจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสาม กับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดการจ่ายค่าทดแทน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515แก้ไขโดย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน(ฉบับ ที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 ข้อ 4 ที่กำหนดว่า กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ค่าทดแทนตาม ข้อ 54 วรรคสาม แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ต้อง ไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาทและไม่เกินเดือนละหกพันบาทมีความหมายว่า กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึง แก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างนั้น นายจ้างต้อง จ่ายค่าทดแทนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน แต่ ต้อง ไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาท และไม่เกินเดือนละหกพันบาท มีกำหนดห้าปี ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวมีสภาพใช้ บังคับอย่างกฎหมาย ศาลต้อง รู้เอง แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ ไว้ ศาลก็ไม่มีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างต้อง รับผิดเกินกว่าบทบัญญัติของกฎหมาย.

Share