คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2186/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยระบุอ้างพยานบุคคลภายหลังเวลาที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้สืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้จึงอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนี้ไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226
จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาให้โจทก์ก่อสร้างโรงเรียนเป็นสัญญาจ้างทำของ แม้ตามแบบแปลนท้ายสัญญาจะแสดงว่าเป็นรูปอาคาร 4 ห้องเรียน จำเลยก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารแบบแปลนนั้นได้ว่า คู่สัญญามีเจตนาอันแท้จริงที่จะทำการจ้างเหมาก่อสร้างอาคารจำนวน 8 ห้องเรียน ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94
โจทก์ทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างโรงเรียนให้จำเลย โดยมีธนาคาร ก. ทำสัญญาค้ำประกันต่อจำเลยว่า เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา หรือปฏิบัติผิดสัญญาซึ่งจำเลยมีสิทธิเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากโจทก์ได้แล้ว ธนาคาร ก.จะยอมชำระเงินแทนโจทก์ให้แก่จำเลยภายในวงเงินที่ค้ำประกันทันที โดยธนาคาร ก. มิได้วางเงินสดตามสัญญาค้ำประกันไว้ต่อจำเลย สัญญาค้ำประกันนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้แทนโจทก์ต่อจำเลยเท่านั้น หาใช่เป็นมัดจำตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินตามสัญญาค้ำประกัน เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาโดยโจทก์ผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กับในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ก่อสร้างอาคารโรงเรียนพรหมานุสรณ์ อำเภอเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 แบ่งจ่ายค่าจ้างเป็น 5 งวด โจทก์จะต้องทำงานให้เสร็จภายใน 210 วัน โดยเริ่มก่อสร้างภายในวันที่ 17 กันยายน 2512และแล้วเสร็จในวันที่ 14 เมษายน 2513 โจทก์ต้องวางเงินเป็นประกันในการดำเนินงานตามสัญญาร้อยละ 5 ของเงินค่าจ้าง การก่อสร้างตกลงให้ถือรายการและรูปแบบซึ่งติดกับสัญญาจ้างเป็นอาคาร 2 ชั้น4 ห้องเรียน ขนาดกว้างยาวและสูงตามเส้นสีแดงซึ่งขีดวงไว้ในแบบแปลนแผนผังส่วนที่จะก่อสร้างในปี 2512 ตามสำเนาท้ายฟ้อง โจทก์เริ่มลงมือก่อสร้างตามสัญญางวดที่ 1 แต่จำเลยที่ 4 ผู้เป็นกรรมการตรวจการจ้างหาว่าโจทก์ทำการปักผังก่อสร้างไม่ถูกต้องตรงตามแบบแปลนสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้าง โจทก์ต้องหยุดการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2512 คณะกรรมการตรวจการจ้างซึ่งมีจำเลยที่ 4 รวมอยู่ด้วยได้บันทึกความเห็นว่า โจทก์จะต้องสร้างอาคารเรียน 8 ห้องเรียน ตามประกาศของทางราชการ โจทก์จึงมีหนังสือร้องเรียนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มีหนังสือยืนยันตามคำสั่งของคณะกรรมการตรวจการจ้าง โจทก์ติดต่อชี้แจงให้จำเลยที่ 2 พิจารณาอีกครั้งหนึ่งและกำลังรอฟังคำสั่งอยู่ ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2512 จำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ลงมือทำงานภายในวันที่ตามสัญญาและสั่งริบเงินมัดจำ แต่โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์เสียหายรวมเป็นเงิน 597,920 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสี่จะต้องร่วมกันรับผิด จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ตามสัญญาโจทก์จะต้องก่อสร้างอาคารโรงเรียน 1 หลัง 2 ชั้น 8 ห้องเรียน ตามราคาและรายการที่จำเลยที่ 1 ได้รับงบประมาณของแผ่นดิน มิใช่สร้างตามแบบแปลนแผนผังเฉพาะที่ขีดวงเส้นสีแดงเพียง 4 ห้องเรียนดังฟ้อง ซึ่งโจทก์ได้ทราบแล้วก่อนยื่นซองประกวดราคาและทำสัญญาจ้างเหมา แบบแปลนท้ายฟ้องไม่ตรงกับแบบแปลนคู่ฉบับซึ่งอยู่กับจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างเหมาข้อ 12 ก็กำหนดว่าถ้าปรากฏรูปแบบหรือรายละเอียดต่อท้ายสัญญาคลาดเคลื่อนผิดไปโจทก์สัญญาว่าจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกรรมการตรวจตราการจ้างแจ้งให้โจทก์ทำการแก้ไขให้ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ในฐานะทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ปักผังให้ได้ขนาดและจำนวน 8 ห้องเรียนตามข้อตกลงแล้ว โจทก์ก็ยังเพิกเฉย จำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องค่าเสียหายไม่เท่าจำนวนที่โจทก์เรียกร้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจำเลยที่ 2 และที่ 4 กระทำไปในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย ส่วนหนังสือค้ำประกันของธนาคารนั้นกำหนดวงเงินที่ค้ำประกันไว้ 21,600 บาท มีลักษณะเป็นมัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 ต้องริบเป็นของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หนังสือค้ำประกันมิใช่เป็นมัดจำตามมาตรา 377 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามสัญญาไม่มีข้อความระบุให้ริบ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิริบเงิน 21,610 บาท ตามสัญญาค้ำประกัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา

ปัญหาว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าก่อนโจทก์ยื่นประกวดราคา โจทก์ทราบดีแล้วว่า อาคารที่โจทก์จะเข้าประกวดราคาเป็นอาคารที่ต้องสร้าง 8 ห้องเรียน และแบบแปลนทั้ง 19 ชุดที่ขายให้โจทก์และผู้ซื้อคนอื่น ๆ เป็นแบบแปลนที่กำหนดให้สร้าง 8 ห้องเรียน ราคาที่โจทก์ยื่นเข้าประกวดราคานั้นเป็นราคาที่โจทก์คิดคำนวณจากราคาที่ต้องสร้างอาคาร 8 ห้องเรียนตามใบแจ้งความประกวดราคาและบันทึกในการดูสถานที่ก่อสร้าง ฉะนั้นการทำสัญญาจ้างในเวลาต่อมาคู่สัญญาจึงมีเจตนาอันแท้จริงที่จะทำการจ้างเหมาก่อสร้างอาคารกันจำนวน 8 ห้องเรียน หาใช่ 4 ห้องเรียนไม่ คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโรงเรียนพรหมานุสรณ์จำนวน 8 ห้องเรียน เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม กลับยืนยันจะสร้างเพียง 4 ห้องเรียนตามแบบแปลนท้ายสัญญาซึ่งมิใช่เจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาที่ตกลงกันไว้ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยชอบที่จะบอกเลิกสัญญากับโจทก์ได้

ที่โจทก์ฎีกาคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยระบุอ้างนายผวน ดวงทรัพย์ เป็นพยานจำเลยได้เมื่อภายหลังเวลาที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้สืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้วเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87, 88 จะรับฟังคำของนายผวนเป็นพยานจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในข้อนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ โจทก์จึงอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226

ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารแบบแปลนท้ายสัญญาจ้างไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เห็นว่า สัญญาจ้างที่โจทก์และจำเลยพิพาทกันในคดีนี้เป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ การนำสืบของจำเลยจึงไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง จำเลยมีสิทธิริบเงินจำนวน 21,610 บาทตามสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด ผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.16 ได้นั้น ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.16 เป็นสัญญาที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด ผู้ค้ำประกันทำไว้ต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะยอมชำระเงินแทนโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2ภายในวงเงินที่ค้ำประกันไว้ ในเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยที่ 2 หรือปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าวข้อหนึ่งข้อใดซึ่งจำเลยที่ 2 มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ได้แล้ว ผู้ค้ำประกันยอมชำระแทนให้ทันที โดยผู้ค้ำประกันมิได้วางเงินสดตามสัญญาค้ำประกันไว้ต่อจำเลยที่ 2 สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้แทนโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 เท่านั้น หาใช่เป็นมัดจำตามความหมายในมาตรา 377แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ พิพากษายืน

Share