คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 3/2529เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 ข้อ 20 ออกตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ซึ่งระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดนำก๊าซที่บรรจุในถังก๊าซหุงต้มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ หรือถ่ายก๊าซออกจากถังก๊าซหุงต้มนอกสถานที่บรรจุก๊าซ ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น” อันเป็นคำสั่งที่ห้ามเด็ดขาดไม่มีข้อยกเว้นให้อนุญาตให้ทำได้ จึงเป็นความผิดอยู่ในตัวมิใช่อยู่ที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ดังนั้น เครื่องมือเครื่องใช้ในการถ่ายก๊าซ คือ เครื่องสูบก๊าซท่อพักก๊าซ ถังเก็บก๊าซและจ่ายก๊าซ ถังก๊าซหุงต้ม เศษเหล็กของถังก๊าซซึ่งระเบิดเสียหาย สายสูบก๊าซพร้อมหัวสูบ เครื่องชั่งน้ำหนัก แท่นรองถังก๊าซและรถยนต์บรรทุกถังก๊าซ ของกลาง จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 2, 4 พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516มาตรา 3, 8 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2520 มาตรา 3 คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 3/2529 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 ข้อ 20 พระราชบัญญัติสาธารณสุขพ.ศ. 2484 มาตรา 8, 68 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจ หรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2526 ข้อ 4 (84) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 225, 390พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 2, 4พระราชกำหนด แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2516 มาตรา 3, 8 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520 มาตรา 3 คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 3/2529 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ข้อ 20 พระราชบัญญัติสาธารณสุขพ.ศ. 2484 มาตรา 8, 68 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2526 ข้อ 4 (84) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 225,390 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันฯมาตรา 3, 8 และประกาศของคณะปฏิวัติฯ ข้อ 2, 4 ลงโทษตามพระราชกำหนด แก้ไขและป้องกันฯ มาตรา 3, 8 บทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 8 ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 390 ลงโทษตามมาตรา 225 บทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 ปี ลงโทษตามพระราชบัญญัติ สาธารณสุขฯ มาตรา 8, 68 ปรับคนละ 100 บาท รวม3 กระทง ให้จำคุกคนละ 14 ปี และปรับคนละ 100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 7 ปี และปรับคนละ 50 บาท ของกลางไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 2, 4พระราชกำหนด แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2516 มาตรา 3, 8 ที่แก้ไขแล้ว คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 3/2529เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 ข้อ 20 ลงโทษตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ บทหนักอีกกระทงหนึ่งจำคุกคนละ 8 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นนี้คงมีตามฎีกาโจทก์เพียงว่าควรริบของกลางหรือไม่เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 3/2529 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 30 กรกฎาคม2529 ซึ่งออกตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ข้อ 20 อยู่ด้วยซึ่งคำสั่งข้อนี้ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดนำก๊าซที่บรรจุในถังก๊าซหุงต้มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ หรือถ่ายก๊าซออกจากถังก๊าซหุงต้มนอกสถานที่บรรจุก๊าซไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น” อันเป็นคำสั่งที่ห้ามเด็ดขาดไม่มีข้อยกเว้นให้อนุญาตให้ทำได้ จึงเป็นความผิดอยู่ในตัวไม่ใช่อยู่ที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ดังนั้นเครื่องมือเครื่องใช้ในการถ่ายก๊าซจึงถูกริบได้ แม้คำสั่งและพระราชกำหนดดังกล่าวจะมิได้บัญญัติให้ริบไว้โดยเฉพาะแต่ก็มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงนำเอาบทบัญญัติทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ที่ว่าเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดมาใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17โดยเฉพาะอย่างยิ่งของกลางคดีนี้คือ เครื่องสูบก๊าซชนิดไอพร้อมมอเตอร์ เครื่องสูบก๊าซชนิดเหลวพร้อมมอเตอร์ ท่อพักก๊าซ ถังเก็บก๊าซและจ่ายก๊าซ ถังก๊าซหุงต้มเศษเหล็กของถังก๊าซซึ่งระเบิดเสียหายสายสูบก๊าซ สายสูบก๊าซพร้อมหัวสูบ เครื่องชั่งน้ำหนัก แท่นรองถังก๊าซรถยนต์บรรทุกถังก๊าซขนาด 13,000 ลิตร หมายเลขทะเบียน 80-2487พระนครศรีอยุธยา ก็ล้วนแต่มีสภาพที่ได้ใช้และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดทั้งสิ้น ประกอบกับเมื่อโจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าจำเลยทั้งสามได้ใช้และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด จำเลยทั้งสามก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงต้องฟังว่าของกลางคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดซึ่งศาลมีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ริบของกลางโดยเข้าใจว่าของกลางคือก๊าซแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสามมีก๊าซไว้ไม่เป็นความผิดจึงไม่ริบก๊าซของกลางนั้น ยังคลาดเคลื่อนอยู่ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบของกลางทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share