คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้
จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้
การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพัน
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบตำรวจสมหมาย เจ้ามรดก มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จ่าสิบตำรวจสมหมาย เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก จ่าสิบตำรวจสมหมายมีทรัพย์มรดก คือ ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 เนื้อที่ 11 ไร่ 87 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 เนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจสมหมายได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนในฐานะผู้จัดการมรดกและในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้กับสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด เพื่อค้ำประกันการกู้ยืมเงินและมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 และในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงนี้ไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตรัง จำกัด เพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืม จำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 จำนวนเงิน 1,332,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการแรกว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 4 มีสิทธิได้รับจากจ่าสิบตำรวจสมหมายเจ้ามรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องอันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น เพราะฉะนั้นสิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น แม้ความประสงค์ของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นการเพื่อจะให้ได้เงินมาชำระหนี้ของตนก็ตาม ดังนั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตรสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1614 ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 233 แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อจ่าสิบตำรวจสมหมายเจ้ามรดกถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจ่าสิบตำรวจสมหมายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกมีการทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ก็ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นอีก ทั้งคำให้การของจำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และได้มีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ได้รับมรดกเป็นเงินสดและที่ดินบางส่วนไปแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่ประสงค์รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทอีกทั้งจำเลยที่ 4 รู้เห็นมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เคยเรียกร้องให้มีการแบ่งทรัพย์มรดกแต่อย่างใดและมิได้ใช้สิทธิฟ้องเกี่ยวกับการจัดการที่ไม่ถูกต้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ก็มิได้คัดค้านโดยการใช้สิทธิฟ้องเรียกทรัพย์มรดกภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จ่าสิบตำรวจสมหมายเจ้ามรดกถึงแก่ความตายจนคดีขาดอายุความ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้เป็นชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รวบรวมเงินของตนมาเพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงได้โอนที่ดินให้เป็นชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันมีลักษณะเป็นการซื้อขายโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทอีก โจทก์จึงไม่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้นั้น ได้ความจากจำเลยที่ 2 ที่เบิกความว่า ก่อนที่จ่าสิบตำรวจสมหมายเจ้ามรดกจะถึงแก่ความตายได้ตกลงด้วยวาจาว่าได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ยกให้แก่จำเลยที่ 3 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 50,000 บาทเศษ ยกให้แก่จำเลยที่ 4 ส่วนของบำเหน็จตกทอดให้นำมาแบ่งแก่จำเลยทั้งสี่ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ให้แบ่งแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยจ่าสิบตำรวจสมหมายบอกว่าที่ดินที่ยกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะไม่ต้องการให้ที่ดินมีชื่อของจำเลยที่ 4 เนื่องจากเกรงว่าจำเลยที่ 4 จะนำที่ดินไปขาย จึงตกลงกันให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดจะยกให้แก่จำเลยที่ 4 ในภายหลังจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย เนื่องจากจำเลยที่ 1 เคยบอกว่า จำเลยที่ 4 มีเจ้าหนี้หลายรายเกรงว่าหากโอนไปจำเลยที่ 4 จะนำที่ดินไปขายจนหมดก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถึงแก่ความตาย เห็นว่า หากเป็นดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3กล่าวอ้างจริงว่า เจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เจ้ามรดกก็น่าที่จะทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงพิพาทและอีกแปลงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปตามความประสงค์ให้ชัดเจน มิใช่เพียงแต่กล่าวด้วยวาจาลอย ๆ เท่านั้น ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็นำสืบทราบว่าจำเลยที่ 4 มีเจ้าหนี้หลายราย จึงน่าเชื่อว่า การโอนที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยทั้งสี่กระทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ได้รับชำระหนี้ โดยรู้อยู่ว่าการกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 เสียเปรียบจึงถือได้ว่าที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกของจ่าสิบตำรวจสมหมายที่ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกทุกคน มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 4 ไม่ประสงค์จะเอาทรัพย์มรดก อีกทั้งมิใช่การซื้อขายโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจสมหมายเจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หรือ การที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจสมหมายโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสอง
พิพากษายืน หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ไปดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share