แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทและจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์เป็นระยะเวลาก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับ ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอของโจทก์ตลอดจนการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของจำเลยจึงอยู่ในบังคับของบทบัญญัติ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุดตามมาตรา 119 (2) และมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าพ.ศ.2534 เมื่อคดีฟังได้ว่า ภายหลังจากที่จำเลยมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทแล้ว โจทก์ได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำ-วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้ารายพิพาทของโจทก์มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมาย-การค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งปฏิเสธของจำเลย และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ตามมาตรา 19 ตรี (1)แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ดังนั้น คำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “กรีนนัท” อักษรโรมันคำว่า “Greennut” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่223913 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 19 เบญจ วรรคท้ายแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อกฎหมายได้กำหนดวิธีการอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับกรณีนี้ไว้แล้ว โจทก์จะดำเนินการคัดค้านว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยวิธีอื่น เช่น ฟ้องคดีต่อศาลอีกหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้