คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2522 ตามมาตรา 58 ทวิแห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยตกลงจะชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือและส่งมอบที่ดินให้ในวันที่5 กันยายน 2531 ภายในกำหนดห้ามโอนตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 113(มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกัน จำเลยต้องคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิริบเงินที่รับไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 283 ให้จำเลยในราคา 63,000 บาทชำระเงินในวันทำสัญญา 43,000 บาท และโจทก์ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยไว้ เงินที่ค้างอีก 20,000 บาท จำเลยตกลงชำระภายในวันที่ 5 กันยายน 2531 เมื่อครบกำหนด จำเลยไม่ชำระตามสัญญา โจทก์จึงริบเงินจำนวน 43,000 บาท และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาขอให้บังคับจำเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 283 แก่โจทก์ หากไม่ยอมคืนหรือไม่สามารถคืนได้ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองเชียงรายออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนฉบับเดิมแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วก่อนครบกำหนดตามสัญญา และได้แจ้งให้โจทก์โอนที่ดินแก่จำเลยแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามฟ้องให้จำเลยภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากโจทก์ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้องแย้ง
คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2532 ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2522 ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินและหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 17มิถุนายน 2531 ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานของทั้งสองฝ่ายและวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายที่ดินตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นโมฆะ พิพากษาให้จำเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 283 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายตามฟ้องให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้ววินิจฉัยไปตามรูปคดี สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้งคำให้การแก้ฟ้องแย้งกับคำแถลงรับของคู่ความฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 283 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงรายจังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 1 งาน 98 ตารางวา ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2522 ตามมาตรา 58 ทวิแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531โจทก์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยในราคา 63,000 บาทชำระเงินในวันทำสัญญา 43,000 บาท และโจทก์มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้จำเลยไปแล้ว ส่วนเงินที่ติดค้างอีก20,000 บาท จำเลยตกลงจะชำระให้ภายในวันที่ 5 กันยายน 2531และจะส่งมอบที่ดินให้ในวันที่ 5 กันยายน 2531 ตามสำเนาหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารท้ายฟ้อง คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา58 ทวิ วรรคห้า บัญญัติว่า “ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก” ปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ 4 เมษายน 2522 ดังนั้นที่โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531และจะส่งมอบที่ดินให้จำเลยในวันที่ 5 กันยายน 2531 ภายในกำหนดห้ามโอนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญาคู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกัน จำเลยต้องคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ ส่วนเงินที่โจทก์รับไว้โจทก์ก็ไม่มีสิทธิรับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share