คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2153/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาเช่าแผงจำหน่ายอาหารจากโจทก์โดยสัญญาเช่าระบุว่า กรณีที่มีปัญหาข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญา ผู้เช่ายอมให้โจทก์เป็นคณะอนุญาโตตุลาการทำการชี้ขาดและผู้เช่าต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็็นกรณีที่ระบุถึงปัญหาข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาเช่า แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพราะเหตุครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่ยอมออกจากแผงที่เช่า มิใช่เป็นกรณีที่มีปัญหาข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาเช่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้โดยไม่จำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน
เมื่อสัญญาเช่าแผงจำหน่ายอาหารครบกำหนดเวลาเช่าตามที่ได้ตกลงกันไว้สัญญาเช่าเป็นอันระงับลงโดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนแผงที่เช่าแก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ยอมส่งคืนแผงที่เช่าแก่โจทก์เป็นการผิดสัญญาเช่าและการที่จำเลยยังครอบครองแผงที่เช่าต่อไปโดยโจทก์ไม่ยินยอมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ทั้งฐานผิดสัญญาและฐานกระทำละเมิด แต่ตามสัญญาเช่าไม่มีข้อความใดกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่าในกรณีสัญญาเช่าสิ้นสุดหรือระงับลงเพราะครบกำหนดเวลาเช่า จึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาเช่าให้แก่โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยไม่ยอมออกจากแผงที่เช่า แต่ค่าเสียหายในมูลละเมิดดังกล่าวที่เกิดก่อนวันฟ้องคดีย้อนขึ้นไปเกิน 1 ปี เป็นอันขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า นางสิริพรเช่าแผงจำหน่ายอาหารจากโจทก์มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ครบกำหนดอายุสัญญาเช่าวันที่ 31 มีนาคม 2540 ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2539 นางสิริพรโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยภายในกำหนดระยะเวลาเช่าที่เหลือ เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าแล้ว โจทก์ไม่อนุญาตให้จำเลยเช่าอีกต่อไปได้แจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่เช่าและส่งมอบแผงที่เช่าคืน แต่จำเลยเพิกเฉย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากแผงจำหน่ายอาหารของโจทก์และส่งมอบแผงคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 88,889.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,746 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากแผงจำหน่ายอาหารของโจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากแผงจำหน่ายอาหารของโจทก์และส่งมอบแผงคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 88,889.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 กรกฎาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,746 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากแผงจำหน่ายอาหารของโจทก์เสร็จสิ้นกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสิริพรทำสัญญาเช่าแผงจำหน่ายอาหารจากโจทก์มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2538 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2540 ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2539 นางสิริพรขอโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลย โดยได้รับความยินยอมจากโจทก์แล้ว ต่อมาคณะกรรมการควบคุมร้านค้าของโจทก์ลงมติไม่ต่อสัญญาเช่าให้แก่จำเลย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกจากแผงจำหน่ายอาหารของโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมออกไปจากแผงจำหน่ายอาหารของโจทก์
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์ให้คำมั่นแก่จำเลยว่าหลังจากครบกำหนดอายุสัญญาเช่าที่นางสิริพรเช่าแผงจำหน่ายอาหารจากโจทก์แล้วโจทก์ยอมให้จำเลยเช่าแผงดังกล่าวต่อไปอีกหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์เรียกร้องเอาเงินค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการเช่าจำนวน 100,000 บาท เมื่อชำระแล้วให้นำสำเนาใบเสร็จรับเงินมาติดต่อเพื่อดำเนินการทำสัญญาต่อไปตามเอกสารหมาย ล.3 จำเลยนำเงินค่าโอนสิทธิ ค่าประกันสัญญาเช่า ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาที่ผู้เช่าเดิมค้างชำระอยู่ไปชำระให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันหลังจากครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว จำเลยยังนำเงินค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาประจำเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2540 ไปชำระให้แก่โจทก์อีก ทั้งหลังจากครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว โจทก์ยังยอมให้จำเลยจำหน่ายอาหารในแผงต่อและจำเลยยังชำระค่าเช่าประจำเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2540 ให้แก่โจทก์ด้วย ทำให้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเช่าแผงต่อ จำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า เอกสารหมาย ล.3 เป็นหนังสือที่นายเสริมศักดิ์หัวหน้างานสวัสดิการและรักษาความปลอดภัยของโจทก์มีถึงนางสิริพร ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 เรื่องขอให้ชำระค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการเช่า มีใจความว่า ตามที่นางสิริพรยื่นคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมร้านค้าของโจทก์มีมติอนุญาตให้โอนสิทธิการเช่าได้ โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 และนำสำเนาใบเสร็จการชำระเงินมาติดต่อเพื่อดำเนินการทำสัญญาต่อไป หากไม่ชำระจะถือว่าสละสิทธิการโอน ข้อความตามหนังสือดังกล่าวเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่โจทก์แจ้งไปยังนางสิริพรซึ่งเป็นผู้โอนแต่ผู้เดียวและไม่มีข้อความใดทำให้เข้าใจไปได้เลยว่าเป็นเรื่องโจทก์ให้คำมั่นแก่นางสิริพรหรือจำเลยว่า หากครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วจะยอมให้นางสิริพรหรือจำเลยเช่าต่อไปได้อีก ข้อความที่ว่าให้นำสำเนาใบเสร็จการชำระเงินมาติดต่อเพื่อดำเนินการทำสัญญาต่อไปหมายถึงเรื่องการโอนสิทธิการเช่าระหว่างนางสิริพรกับจำเลยตามที่นางสิริพรขอโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยตามคำขอโอนสิทธิการเช่าเท่านั้น ทั้งในคำขอโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวก็มีข้อความระบุชัดเจนว่าผู้รับโอนซึ่งหมายถึงจำเลยยินดียอมรับสภาพหนี้ที่นางสิริพรผู้โอนมีอยู่ต่อโจทก์ทุกประการและมีสิทธิในอายุสัญญาเช่าเท่ากับผู้โอนเหลืออยู่ แสดงว่าจำเลยรับทราบแล้วว่าจำเลยมีสิทธิเช่าต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดตามสัญญาเช่าที่นางสิริพรทำไว้กับโจทก์เท่านั้น การที่จำเลยยอมชำระเงินต่างๆ ให้แก่โจทก์แทนนางสิริพรหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ให้คำมั่นว่าโจทก์จะยอมให้จำเลยเช่าต่อไปอีกหลังจากครบกำหนดอายุสัญญาเช่าเดิมแล้วไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า หลังจากครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว โจทก์ยังยอมให้จำเลยจำหน่ายอาหารในแผงที่เช่าต่อและจำเลยยังชำระค่าเช่าประจำเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2540 ให้แก่โจทก์ด้วย ทำให้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเช่าแผงต่อ จำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าข้อ 13 ระบุว่า ในกรณีที่มีปัญหาข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญานี้ ผู้เช่ายอมให้โจทก์เป็นคณะอนุญาโตตุลาการทำการชี้ขาดและผู้เช่าต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น คดีนี้โจทก์มิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า สัญญาข้อ 13 เป็นกรณีที่มีปัญหาข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาเช่า แต่ฟ้องโจทก์คดีนี้เพราะเหตุครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่ยอมออกจากแผงที่เช่า มิใช่เป็นกรณีมีปัญหาข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่จำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเสียก่อน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินไปหรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์เพียงแต่อ้างส่งรายการคำนวณค่าเสียหายแทนการสืบพยานแม้จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินส่วน ศาลก็ชอบที่จะลดลงหรือยกเสีย และโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจากจำเลยมีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์รู้ว่าจำเลยอยู่ในแผงพิพาทตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2540 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 พ้นกำหนด 1 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายทวีวุฒิเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปของโจทก์มาเบิกความถึงค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ยอมออกจากแผงที่เช่า มีรายการคำนวณค่าเสียหายอย่างละเอียดชัดเจน จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเลยว่าค่าเสียหายรายการใดไม่ถูกต้องและที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจึงต้องฟังตามที่โจทก์นำสืบ ไม่มีเหตุให้ลดลงหรือสมควรที่จะยกเสีย สัญญาเช่าจำหน่ายอาหารครบกำหนดเวลาเช่าตามที่ได้ตกลงกันไว้ สัญญาเช่าเป็นอันระงับลง โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนแผงที่เช่าแก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ยอมส่งคืนแผงที่เช่าแก่โจทก์เป็นการผิดสัญญาเช่าและการที่จำเลยยังครอบครองแผงที่เช่าต่อไปโดยโจทก์ไม่ยินยอมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ทั้งฐานผิดสัญญาและฐานกระทำละเมิด คดีนี้ตามสัญญาเช่าไม่มีข้อความใดกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่ากรณีสัญญาเช่าสิ้นสุดหรือระงับลงเพราะครบกำหนดเวลาเช่า จึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาเช่าให้แก่โจทก์แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดได้ ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ครบกำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากแผงที่เช่าของโจทก์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2540 ตามหนังสือแจ้งให้ขนย้ายแต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไป อันถือได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์นับแต่วันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยไม่ยอมออกจากแผงที่เช่า โดยคำนึงถึงรายการคำนวณค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาประกอบด้วย โจทก์ทราบดีมาโดยตลอดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำละเมิดและเป็นผู้พึงใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 เช่นนี้ จึงต้องถือว่าค่าเสียหายเกี่ยวกับแผงที่เช่าตามฟ้องที่เกิดก่อนวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 เกิน 1 ปี แล้วเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากแผงจำหน่ายอาหารที่เช่าและเรียกค่าเสียหาย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน การกำหนดค่าทนายความต้องถือเอาค่าทนายความในอัตราที่สูงกว่าเป็นหลัก เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้น 88,889.90 บาท ซึ่งมีอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้น 4,444.50 บาท แต่ในส่วนคดีไม่มีทุนทรัพย์มีอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้น 3,000 บาท เช่นนี้ต้องถือเอาอัตราค่าทนายความในคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งมีอัตราสูงกว่ามาใช้บังคับ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 7,000 บาท จึงสูงกว่าอัตราขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ชอบและศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 กรกฎาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 4,000 บาท และในชั้นฎีกา 2,500 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share