แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามคำแถลงการณ์ประกอบอุทธรณ์ของจำเลยรับว่า จำเลยเคยกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมาก่อน และศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี แต่ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษจำคุกให้มีกำหนด 2 ปี และจำเลยมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ ฉะนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและมิได้ขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับคดีนี้มาในท้ายฟ้อง อีกทั้งมิได้อุทธรณ์ขอให้บวกโทษก็ตาม ก็เป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก นอกจากนี้ คำว่า “ศาล” ตามมาตราดังกล่าวก็หมายถึงทุกชั้นศาล หาได้มีความหมายเฉพาะศาลชั้นต้นที่มีอำนาจกำหนดโทษตามที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์นำโทษจำคุก 1 ปี ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 10 เม็ดน้ำหนัก 0.98 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตตามคดีหมายเลขแดงที่ 2299/2542 ของศาลอาญาธนบุรี อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษและขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุเกินกว่าสิบเจ็ดปี เมื่อพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วจำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 97, 102 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำคุกจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 แต่ให้นำโทษจำคุก 1 ปี ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ซึ่งศาลชั้นต้นลดโทษให้แล้ว คงจำคุก 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าการที่ศาลอุทธรณ์นำโทษจำคุกจำเลย 1 ปี ที่ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 8118/2542 มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้โดยที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและมิได้มีคำขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษในคดีนี้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ขอให้บวกโทษจำเลยแต่อย่างใด เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรกและมาตรา 212 นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก “…เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง…” นั้น คำว่า “ศาล” ตามมาตรานี้น่าจะหมายถึง ศาลชั้นต้นที่มีอำนาจกำหนดโทษ มิใช่หมายถึงศาลอุทธรณ์เช่นในคดีนี้ นั้น เห็นว่า ตามคำแถลงการณ์ประกอบอุทธรณ์ของจำเลยฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2543 จำเลยรับว่าเคยกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมาก่อน และศาลอาญาธนบุรีได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี แต่จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งโดยลดโทษแล้วคงปรับ 5,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 8118/2542 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 ที่แนบท้ายคำแถลงการณ์ประกอบอุทธรณ์ และจำเลยได้กระทำความผิดคดีนี้อีกภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ ฉะนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและมิได้ขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับคดีนี้มาในท้ายฟ้อง อีกทั้งมิได้อุทธรณ์ขอให้บวกโทษก็ตามก็เป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรกที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2532 มาตรา 4 นอกจากนี้คำว่า “ศาล” ตามมาตราดังกล่าวก็หมายถึงทุกชั้นศาล หาได้มีความหมายเฉพาะศาลชั้นต้นที่มีอำนาจกำหนดโทษตามที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์นำโทษจำคุก 1 ปีที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเคยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและศาลรอการลงโทษจำคุก โดยให้โอกาสจำเลยได้เข้ารับการบำบัดรักษาเพื่อเลิกเสพยาเสพติดให้โทษ ทั้งให้พนักงานคุมประพฤติควบคุมดูแลและแนะนำให้จำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีแต่ก็ไม่ได้ผล จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกในระหว่างรอการลงโทษและคุมประพฤติ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีความตั้งใจที่จะเลิกเสพยาเสพติดให้โทษ จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยอีกที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน