คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 214/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ตามอำนาจที่จำเลยมอบไว้ให้ในใบแต่งทนายความ สัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีผลผูกมัดจำเลย จำเลยจะอุทธรณ์ว่าทนายจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยก่อนและมิได้แจ้งผลของคดีให้จำเลยทราบไม่ได้เพราะเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งตามข้อยกเว้นของมาตรา 138 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งระบุว่าจำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำยอม โดยมิได้ระบุจำนวนเงินตามฟ้องว่าเป็นเงินเท่าใดนั้น ไม่ใช่ข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ส่วนจำเลยจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใดนั้นเมื่อมีข้อโต้เถียงกันขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการเหมืองปิล็อกของโจทก์ จำเลยได้ทำรายงานกิจการเหมืองประจำเดือนและบัญชีเงินสดซึ่งแสดงค่าใช้จ่ายประจำเดือนของเหมืองเสนอต่อโจทก์เป็นเท็จ โดยรายงานจำนวนแร่ที่ขุดได้มากกว่าความเป็นจริง ทั้งเบิกเงินค่าแรงทำแร่สำหรับจ่ายแก่ผู้รับจ้างทำแร่มากกว่าที่จ่ายไปจริง และจำเลยได้ขอยืมเงินทดรองจ่ายหมุ่นเวียนในการซื้อของสำหรับร้านค้าเหมืองปิล็อกแล้วไม่คืนแก่โจทก์ภายในกำหนด โจทก์ทำการสอบสวนความผิดของจำเลยแล้วมีคำสั่งให้จำเลยออกจากงาน จำเลยต้องรับผิดชำระเงินคืนแก่โจทก์รวม ๓๒๘,๗๐๗.๓๗ บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทำรายงานจำนวนแร่และเบิกเงินค่าแรงทำแร่มากกว่าที่เป็นจริงเพราะทำโดยใช้วิธีประมาณจากยอดแร่ที่ผลิตได้ในปีก่อน ๆ มาเฉลี่ย ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามปกติที่เคยปฏิบัติกันมาก่อนที่จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการเหมือง จำเลยไม่มีเจตนารายงานเท็จจำเลยยอมรับว่าได้ยืมเงินทดรองจากโจทก์จริงแต่ไม่มีหน้าที่ต้องคืนให้แก่โจทก์เพราะจำเลยยืมในฐานะเป็นผู้จัดการเหมือง มิใช่ยืมเป็นการส่วนตัวทั้งเงินดังกล่าวก็นำมาใช้จ่ายในการจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อทดรองจ่ายให้แก่กรรมกรเหมืองแร่ จำเลยไม่ต้องรับผิด การที่โจทก์ให้จำเลยออกจากงานโดยไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์จ่ายเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ เงินโบนัสแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยกระทำผิดต่อระเบียบวินัยของทางราชการอย่างร้ายแรง โจทก์ให้จำเลยออกจากงานไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ทนายโจทก์กับทนายจำเลยตกลงกันได้จึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลมีข้อความว่า’ข้อ ๑. จำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่วันทำยอมนี้ ผิดนัดให้บังคับคดี พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ ข้อ ๒. โจทก์พอใจไม่ติดใจใด ๆ อีก’ ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอมไปแล้ว
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้อง เมื่อข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและศาลพิพากษาตามยอมไปแล้วนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๘ บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านั้นเว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้ (๑) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่า คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล (๒) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (๓) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า ทนายจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ตามอำนาจที่จำเลยมอบไว้ให้ในใบแต่งทนายความ ไม่ใช่ทนายจำเลยทำโดยปราศจากอำนาจ ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความยึงมีผลผูกมัดจำเลยข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าทนายจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยก่อนและมิได้แจ้งผลของคดีให้จำเลยทราบนั้นเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อยกเว้นดังกล่าวซึ่งจำเลยจะมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษา สำหรับสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ ๑. ซึ่งระบุว่าจำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่วันทำยอมนี้โดยมิได้ระบุจำนวนเงินตามฟ้องว่าเป็นเงินเท่าใดนั้น ไม่ใช่เป็นข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ส่วนจำเลยจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใดนั้น เมื่อมีข้อโต้เถียงกันขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี ไม่ใช่เหตุซึ่งจะมาขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษา
พิพากษายืน

Share