แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” ตามมาตรา 1713 แห่ง ป.พ.พ.ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมของผู้ตายโดยตรง เมื่อกองมรดกของ ส. ซึ่งตกได้แก่มารดาผู้ร้องแต่มารดาผู้ร้องถึงแก่ความตายไปแล้ว กองมรดกของ ส. ย่อมตกเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ส.ได้ส่วนสิทธิในการรับมรดกของส.ผู้ตายว่าทรัพย์สินจะตกเป็นของผู้ร้องเพียงใดนั้น เป็นกรณีที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสง่า ลอยแก้ว หรือแก้วเงิน ผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสง่า ลอยแก้วหรือแก้วเงิน ผู้ตายซึ่งไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้นั้น เห็นว่า เมื่อนายสง่าตาย กองมรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรมแม้ผู้ร้องไม่ได้เป็นบุตรของนายสง่า แต่นายสง่าได้จดทะเบียนสมรสกับนางลำดวนหรือดวน ระหว่างที่นายสง่ากับนางลำดวนหรือดวนมีชีวิตอยู่ได้มีชื่อร่วมกันในที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 272เอกสารหมาย ร.6 นายสง่าตายแล้วนางลำดวนหรือดวนจึงตายผู้ร้องในฐานะบุตรของนางลำดวนหรือดวนจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าว คำว่าผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 1713 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมของผู้ตายโดยตรง เมื่อกองมรดกของนายสง่าตกเป็นของผู้ร้องอยู่ด้วย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสง่าได้ และผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ทั้งมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกให้มีสิทธิและหน้าที่แบ่งปันทรัพย์สินต่อไป ส่วนสิทธิในการรับมรดกของนายสง่าผู้ตายว่าทรัพย์สินจะตกเป็นของผู้ร้องเพียงใดเป็นกรณีที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสง่าลอยแก้วหรือแก้วเงิน ผู้ตายโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย