คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2129/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาต่อศาลแขวงนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติไว้เคร่งครัดเหมือนกับการฟ้องคดีด้วยลายลักษณ์อักษรเพียงแต่มีรายละเอียดพอสมควรให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็เป็นการเพียงพอแล้ว ฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 อีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชกต่อยฟัดเหวี่ยงทำร้ายจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ร่วมกันชกต่อยฟัดเหวี่ยงทำร้ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ย่อมมีความหมายว่าแต่ละฝ่ายมีพวกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ได้ร่วมกันกระทำความผิดในการทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งในฐานะเป็นตัวการซึ่งโจทก์ได้อ้าง ป.อ. มาตรา83 มาด้วยแล้ว แม้โจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยคนใดชกต่อยหรือทำร้ายจำเลยคนใด ก็ไม่ทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุม.
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองฝ่ายต่างทำร้ายซึ่งกันและกันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1,2,4 และ 6 มีบาดแผลดังที่บรรยายรายละเอียดมาในฟ้องแล้ว ทั้งระบุว่าเป็นอันตรายแก่กายด้วย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังนี้เท่ากับยอมรับในข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าบาดแผลดังกล่าวเป็นอันตรายแก่กายจริง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่าบาดแผลนั้นยังไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายไม่ได้ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2531 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2, 3, 4, 5 ฝ่ายหนึ่งและจำเลยที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 7, 8 และ 9 อีกฝ่ายหนึ่ง สมัครใจเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โดยจำเลยที่ 1, 2, 3, 4, 5 ร่วมกันชกต่อยฟัดเหวี่ยงทำร้ายจำเลยที่ 6, 7, 8 และ 9 และจำเลยที่ 6, 7, 8และ 9 ร่วมกันชกต่อยฟัดเหวี่ยงทำร้ายจำเลยที่ 1, 2, 3, 4 และ 5จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หัวไหล่ฟกช้ำ ศีรษะบวม ด้านหลังเป็นแผลฟกช้ำ รักษา 3 วัน จำเลยที่ 2 นิ้วกลางหนังกำพร้าหลุดครึ่งเซนติเมตรรักษา 3 วัน จำเลยที่ 4 ฟกช้ำที่ท้ายทอย รักษา 3 วัน จำเลยที่ 6ได้รับบาดเจ็บฟกช้ำที่หัวไหล่ด้านซ้าย นิ้วชี้ด้านซ้ายถลอกหนังกำพร้าหลุด 1 เซนติเมตร หน้าแตกโลหิตไหล รักษา 15 วัน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ได้รับอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งเก้าได้ และยึดมีดทำครัว 4 เล่ม ในที่เกิดเหตุเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งเก้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเก้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 จำเลยที่ 3 อายุไม่เกิน 17 ปี(ที่ถูก 18 ปี) ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งเก้าให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 คนละ1 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 15 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตามมาตรา 23 มีดของกลางคืนเจ้าของ
จำเลยที่ 8 อุทธรณ์ขอให้เปลี่ยนโทษกักขังเป็นรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 8 ข้อแรกว่าตามคำฟ้องโจทก์ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยคนใดทำร้ายจำเลยคนใด การที่จำเลยที่ 1, 2, 4 และ 6 ได้รับบาดเจ็บก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นการกระทำของจำเลยคนใด ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแขวงและเป็นการฟ้องด้วยวาจา ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้เคร่งครัดเหมือนกับการฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษร เพียงมีรายละเอียดพอสมควรให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็เป็นการเพียงพอแล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2, 3, 4 และ 5 ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 7, 8 และ 9 อีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันโดยจำเลยที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 ร่วมกันชกต่อยฟัดเหวี่ยงทำร้ายจำเลยที่ 6, 7, 8 และ 9 ส่วนจำเลยที่ 6, 7, 8และ 9 ร่วมกันชกต่อยฟัดเหวี่ยงทำร้ายจำเลยที่ 1, 2, 3, 4 และ 5อันเป็นการฟ้องว่าจำเลยทั้งสองฝ่ายต่างเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ตามคำฟ้องดังกล่าวย่อมมีความหมายว่าแต่ละฝ่าย มีพวกตั้งแต่2 คนขึ้นไป ได้ร่วมกันกระทำความผิดในการทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งในฐานเป็นตัวการ ซึ่งโจทก์ก็ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83มาด้วยแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่า จำเลยคนใดชกต่อยหรือทำร้ายจำเลยคนใดก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 8 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 8 ฎีกาว่า บาดแผลของจำเลยที่ 1, 2 และ 4ยังไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายเพราะเป็นเพียงรอยถลอก ฟกช้ำหนังกำพร้าถลอก ส่วนจำเลยที่ 6 ก็มีบาดแผลลักษณะเดียวกัน ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าหน้าแตกโลหิตไหลก็มิได้ระบุขนาดของบาดแผล ทั้งมิได้แนบรายงานชันสูตรบาดแผลมาท้ายฟ้อง และที่ว่าบาดแผลของจำเลยที่ 6รักษา 15 วัน ก็เป็นการคาดคะเนของเจ้าพนักงาน พฤติการณ์ในการกระทำตามฟ้องยังไม่ถึงขั้นรุนแรง บาดแผลไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายจำเลยที่ 8 จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 8 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1, 2, 4 และที่ 6 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยที่ 8 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ 8 ยอมรับในข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าบาดแผลดังกล่าวเป็นอันตรายแก่กายจริง จำเลยที่ 8 จะฎีกาโต้เถียงว่า บาดแผลนั้นยังไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหาได้ไม่เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 8 ให้การรับสารภาพแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 8 จำคุก 2 เดือน ปรับ2,000 บาท จำเลยที่ 8 ให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือนปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share