คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2121/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีเมื่อ ป.พ.พ.บรรพ 1 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2535 ใช้บังคับ ดังนั้น คดีนี้จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ.ที่มีการตรวจชำระใหม่
สัญญาที่โจทก์รับจ้างว่าความแก่จำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งการเริ่มนับอายุความในการเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าว่าความมีบัญญัติไว้ในป.พ.พ.มาตรา 193/12 ว่า “อายุความให้เริ่มนับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…” และมาตรา 602 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ” โดยการที่ทำในคดีนี้คือการที่โจทก์เป็นทนายความว่าความแก้ต่างแก่จำเลยในศาลชั้นต้นและจำเลยจะต้องใช้สินจ้างแก่โจทก์เมื่อรับมอบการที่ทำ กรณีตามสัญญานี้ก็คือเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว แสดงว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว
ส่วนที่สัญญาจ้างว่าความระบุไว้ว่าจำเลยตกลงจะได้ทำการขายที่ดินโดยเร็วโดยตั้งราคาไว้เป็นเงิน 3,500,000 บาท ซึ่งจำเลยผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายเป็นค่าจ้างว่าความให้โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท หากขายได้ราคาต่ำกว่าข้างต้น จำเลยตกลงจะจ่ายเป็นค่าจ้างว่าความเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินที่ขายที่ดินดังกล่าวได้ทั้งหมด แต่ไม่ว่าจะขายที่ดินได้เท่าใด ค่าจ้างว่าความจะไม่ต่ำกว่า 280,000 บาท นั้น เป็นแต่เพียงการกำหนดจำนวนค่าจ้างว่าความว่าควรจะเป็นเท่าใดเท่านั้น โดยถือเอาจำนวนราคาขายที่ดินที่พิพาทในคดีที่ว่าจ้างเป็นตัวกำหนด แต่หากกำหนดไม่ได้ก็ต้องถือว่าค่าจ้างว่าความมีจำนวน 280,000 บาทเท่านั้น โดยมิได้มีกำหนดเวลาชำระค่าจ้างว่าความไว้ในสัญญาจ้างว่าความแต่อย่างใดดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ทำการตามสัญญาจ้างว่าความเสร็จสิ้น คือ ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว สิทธิที่โจทก์จะเรียกเอาสินจ้างย่อมเกิดขึ้นทันที ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกเอาค่าจ้างว่าความจากจำเลยจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีคือวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในวันที่ 5 กันยายน2537 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วฟ้องของโจทก์ย่อมขาดอายุความ

Share