แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกมรดกจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน เมื่อทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระหนึ่งจึงเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีย่อมมีอำนาจจัดการและฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกซึ่งเป็นสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ บรรพ 5 (เดิม) แม้ภายหลังมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงมีอำนาจจัดการทรัพย์พิพาทต่อไปตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจใช้สิทธิจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทยกอายุความ 1 ปี ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นสามีจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์โดยเป็นบุตรของนางบุญ บิดาตายไปแล้ว นางบุญได้นายเภาเป็นสามี นายเภามีบุตรติดมาหลายคน เมื่อ ๔ ปีมานี้นางบุญตาย นายเภาครอบครองทรัพย์สินอันมีที่นา ๖๗ ไร่ ที่ดินอาศัยเนื้อที่ ๑ ไร่ และบ้าน ๑ หลัง เมื่อเดือน ๔ ปีนี้ (๒๕๑๙) นายเภาตาย จำเลยทั้งสองจึงได้ครอบครองทรัพย์ดังกล่าวและได้แบ่งที่นาของโจทก์กึ่งหนึ่ง แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งให้โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าที่นาและที่อยู่อาศัยเป็นของจำเลยได้มาตามคำพิพากษาส่วนเรือนพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ มาก่อน คดีโจทก์ขาดอายุความมรดก จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นมรดกของนางบุญซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับร่วมกับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ทายาทจะยกอายุความ ๑ ปี ขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ พิพากษาให้แบ่งทรัพย์พิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นสามีจำเลยที่ ๒ ทรัพย์พิพาทเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ ๒ จึงเป็นสินสมรสของจำเลยทั้งสอง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ (นางบุญตาย) เป็นต้นมาจำเลยที่ ๑ ในฐานะสามีของจำเลยที่ ๒ ย่อมมีอำนาจที่จะจัดการสินบริคณห์ ฟ้องคดีนี้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาหรือการใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๖, ๑๔๖๘ และ ๑๔๖๙ แม้ภายหลังจะมีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ แล้วก็หาทำให้สิทธิของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอยู่ก่อนนั้นต้องเสียไปไม่ จำเลยที่ ๑ ยังคงมีอำนาจอยู่ดังเดิมตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีอำนาจที่จะใช้สิทธิของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นทายาทยกอายุความ ๑ ปีขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๕๔ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์มรดกตั้งแต่นางบุญถึงแก่กรรมตลอดมา โจทก์ได้แยกเรือนไปอยู่กับภริยาต่างหามิได้ครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับจำเลย โจทก์มาฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์