คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 4จำนวน 402,000 บาท ตามสัญญาจ้างทำของท้ายฟ้อง และโจทก์ได้บรรยายฟ้องเรื่องละเมิดมาด้วย โดยอ้างว่าการกระทำที่ผิดสัญญาเกิดจากการประพฤติมิชอบของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 กลั่นแกล้งโจทก์เช่นนี้แม้ในเรื่องละเมิดโจทก์จะนำสืบฟังไม่ได้ ก็หาทำให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างทำของหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไปด้วยไม่.

ย่อยาว

คดีนี้สำนวนแรกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลซุปเปอร์เทคนิคเป็นโจทก์ฟ้องกรมอาชีวศึกษากับพวกเป็นจำเลย สำนวนหลังกรมอาชีวศึกษาเป็นโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซุปเปอร์เทคนิคกับพวกเป็นจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 ที่ 3ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ตามลำดับเรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ในสำนวนแรกคงเรียกตามเดิม
โจทก์สำนวนแรกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ของโรงเรียนเกษตรกรรมลำพูน โจทก์ทำการก่อสร้างเสร็จตามสัญญาจนกระทั่งงวดสุดท้าย เกี่ยวกับเครื่องเฟอร์นิเจอร์ส่งไม่ได้เพราะจำเลยที่ 3 สั่งให้ร้านที่โจทก์ว่าจ้างหยุดทำงาน โจทก์แก้ไขแล้วจึงได้แจ้งให้คณะกรรมการตรวจงานจ้างมาตรวจรับงานอีกครั้งหนึ่ง แต่จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 ก็ไม่มาตรวจรับงานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันและแทนกันใช้เงินค่าจ้างทำของจำนวน 402,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเป็นรายเดือน เดือนละ 5,025 บาท โดยคิดในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของเงินต้น 402,000 บาท จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ในสำนวนแรกให้การว่า โจทก์ทำสัญญากับจำเลยที่ 1เท่านั้น จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งงานล่าช้าเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 ปฏิบัติตามหน้าที่ไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะต้องชำระเบี้ยปรับต่อโจทก์ทั้งนี้ในวงเงินไม่เกิน 117,000 บาท ปรากฏตามสัญญาท้ายฟ้องต่อมาจำเลยที่ 1 ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ส่งมอบงานล่วงเลยกำหนดถึง 771 วัน จะต้องชำระเบี้ยปรับตามสัญญาให้โจทก์วันละ3,900 บาท เป็นเงิน 3,006,900 บาท แต่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเบี้ยปรับบางส่วนแล้วเป็นเงิน 42,900 บาท จึงต้องชำระให้โจทก์อีกรวม2,964,000 บาท โจทก์ได้บอกสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับไว้แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องร่วมรับผิดชำระเบี้ยปรับให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในเบี้ยปรับนั้นในวงเงิน 117,000 บาทขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเบี้ยปรับจำนวน 2,964,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องถึงวันชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในหนี้เบี้ยปรับเป็นเงิน 117,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยในสำนวนหลังให้การว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างของโจทก์เป็นฝ่ายประพฤติผิดบิดพลิ้วไม่ยอมไปตรวจรับงานงวดสุดท้ายของจำเลยในวันที่ 15 ธันวาคม 2523 เอง ที่มีการส่งมอบงานล่าช้าคือส่งในวันที่ 7 ธันวาคม 2524 นั้น ไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดของฝ่ายโจทก์ เบี้ยปรับที่เรียกร้องสูงไปมากเกินส่วน เพราะข้อบกพร่องที่ว่าจำเลยทำไม่แล้วเสร็จนั้นก็อาจแก้ไขได้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท โจทก์ไม่ได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับไว้ในขณะรับมอบงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ที่ 1ส่งมอบงานล่าช้าล่วงเลยกำหนดในสัญญาอันไม่ใช่ความผิดของฝ่ายจำเลย จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องปนกันมาว่า ฝ่ายจำเลยกระทำละเมิดและผิดสัญญาร่วมกันก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องแล้ว เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ประสงค์จะเรียกค่าจ้างทำของตามสัญญาในงวดสุดท้ายเป็นเงิน402,000 บาท หาใช่เป็นการเรียกร้องโดยอาศัยมูลละเมิดไม่ เมื่อโจทก์ที่ 1 ส่งงานงวดสุดท้ายเสร็จและจำเลยที่ 1 ได้รับไว้โดยถูกต้องครบถ้วยตนได้ใช้งานตลอดมา จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาเป็นเงิน 402,000 บาท ส่วนที่โจทก์ที่ 1 จะต้องถูกปรับตามสัญญา เพราะส่งมอบงานล่าช้าเกินกำหนดเป็นอีกเรื่องหนึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นเพียงข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 1ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างงานรายนี้เท่านั้นไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ได้บอกแจ้งสงวนสิทธิในการที่จะเรียกเบี้ยปรับจากโจทก์ที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับจากโจทก์ที่ 1ได้ตามสัญญา พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยที่ 1 และโจทก์โดยงานเฉพาะส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จเป็นเงินประมาณเพียง 50,000 บาทประกอบกับงานทั้งหมดที่ยังไม่ได้ส่งมอบเป็นเงินเพียง 402,000 บาทเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 เรียกจากโจทก์ที่ 1 จึงสูงเกินไป เห็นควรให้ปรับโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาเป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 3ผู้ค้ำประกันตามสัญญาต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ที่ 1 ในการชำระเบี้ยปรับด้วย ในวงเงินไม่เกิน 117,000 บาท และไม่ปรากฏว่าคู่กรณีประสงค์จะให้มีการหักกลบลบหนี้กันระหว่างเบี้ยปรับกับค่าจ้างตามสัญญาจึงไม่หักกลบลบหนี้ให้ คำฟ้องของโจทก์ส่วนสำคัญเป็นเรื่องเรียกค่าจ้างตามสัญญาจ้าง แม้จะมีมูลละเมิดปนอยู่ด้วย แต่โจทก์สืบไม่ได้ว่ามีการละเมิดจากฝ่ายจำเลย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคดีโจทก์เฉพาะข้อนี้ขาดอายุความหรือไม่ และคดีของจำเลยที่ 1ที่เรียกเอาเบี้ยปรับจากโจทก์ที่ 3 ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 402,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2524 ซึ่งเป็นวันตรวจรับมอบงานจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมครึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ที่ 1 เสียไปจริงแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 เฉพาะโจทก์ที่ 3ให้รับผิดตามสัญญาประกันในวงเงินไม่เกิน 117,000 บาท กับให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จำเลยที่ 1เสียไปจริงแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์บรรยาฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมรับผิดในข้อหาละเมิด มิใช่ประสงค์จะเรียกเงินค่าจ้างงวดที่ 4 จากจำเลยที่ 1 ตามสัญญา ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าฟ้องโจทก์เป็นการเรียกเงินตามสัญญาจ้างทำของ จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องนั้น เห็นว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 4 จำนวน 402,000 บาท ตามสัญญาจ้างทำของท้ายฟ้องการที่โจทก์บรรยายเรื่องละเมิดมาด้วย เนื่องจากโจทก์อ้างว่าการกระทำอันเป็นการผิดสัญญาเกิดจากการประพฤติมิชอบของจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 กลั่นแกล้งโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์ก็มีผลทำให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดตามฟ้องเท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างทำของหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาจ้างทำของจึงเป็นการวินิจฉัยที่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า แม้จะฟังว่าฟ้องโจทก์ที่ 1 เป็นการเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจ้างทำของคดีของโจทก์ที่ 1 ก็ขาดอายุความเช่นเดียวกันนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1ให้การต่อสู้เฉพาะอายุความเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเท่านั้น ฉะนั้น อายุความในเรื่องสัญญาจ้างทำของจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวให้จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share