คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2101/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จ. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำสัญญากับบริษัท ว. มีข้อความสำคัญว่า ผู้ว่าจ้าง (จ) ตกลงให้ผู้รับจ้าง (ว) ขายหรือเลหลังที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท หรือหากต่ำกว่าราคานี้ก็ต่อเมื่อผู้รับจ้าง (ว) ได้รับความยินยอมจากผู้ว่าจ้าง (จ) ให้ขายได้ ดังนี้ ย่อมมีความหมายว่า ถ้ามีผู้ซื้อเสนอขอซื้อในราคาที่กำหนดไว้นี้แล้ว ว. มีอำนาจเป็นตัวแทนของ จ. ทำสัญญาจะซื้อขายกับผู้ขอซื้อได้เลยและสัญญานั้นมีผลผูกพัน จ. และเมื่อ ว. ทำสัญญาจะซื้อขายกับผู้ขอซื้อไว้ในนามของ ว. แต่เวลาจะโอนกรรมสิทธิ์ จ. ซึ่งเป็นเจ้าของต้องจัดการโอนให้ ไม่ใช่ว่า ว. จะทำการโอนขายไปเป็นผลสำเร็จได้เองดังนี้ แม้ ว. จะเป็นผู้มีอาชีพประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าขายทอดตลาดก็ไม่ทำให้สัญญาระหว่าง จ. กับ ว. เป็นเรื่อง ตัวแทนค้าต่าง
ว. เป็นตัวแทนของ จ. ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมด้วยตึกแถวให้โจทก์ แล้ว จ. กลับโอนที่ดินและตึกแถวนั้นให้ผู้อื่นไป ถ้าไม่สามารถโอนที่ดินและตึกนั้นให้โจทก์ได้ จ. จะต้องคืนเงินที่ ว. รับไว้จากโจทก์และต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินที่คืนนั้น นอกจากนี้ยังต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกด้วย
ตัวแทนของเจ้าของทำสัญญาจะขายที่ดินและตึกแถวให้โจทก์แล้วเจ้าของกลับโอนที่ดินและตึกนั้นให้ผู้อื่นไป การที่เคยมีผู้มาขอซื้อที่ดินและตึกนั้นจากโจทก์ในราคาเป็นเงินจำนวนหนึ่งเพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษเท่ากับราคาที่มีผู้มาขอซื้อนั้น แต่ถือได้ว่าที่ดินและตึกนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นแน่นอนซึ่งเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ของฝ่ายเจ้าของที่ดินและตึก ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามจำนวนที่เห็นสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ ๖ เป็นตัวแทนจัดการขายที่ดินโฉนดที่ ๓๙๒๓ พร้อมด้วยตึกแถวเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๐๖ โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินดังกล่าวส่วนหนึ่งเนื้อที่ประมาณ ๒๔ ตารางวา พร้อมด้วยตึกแถวเลขที่ ๔๒๕/๑๘ และ ๔๒๕/๑๙ จากจำเลยที่ ๖ ในราคา ๓๒๐,๐๐๐ บาท ได้วางเงินมัดจำและชำระราคาให้จำเลยที่ ๖ ครบแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเพราะต้องรอการแบ่งแยกโฉนดเสียก่อน ครั้นเมื่อแยกโฉนดแล้วคือที่ดินพร้อมด้วยตึกเลขที่ ๔๒๕/๑๘ ได้โฉนดใหม่ ๕๙๗๓ ที่ดินพร้อมด้วยตึกเลขที่ ๔๒๕/๑๙ ได้โฉนดใหม่ ๕๙๗๔ จำเลยที่ ๖ ไม่จัดการโอนโฉนดให้โจทก์ตามสัญญา โดยจำเลยที่ ๗ พนักงานของจำเลยที่ ๖ มีหนังสือมอบอำนาจมีพระนามหม่อมเจ้าหญิงจงกลนีฯเป็นผู้มอบให้ขายที่ดินโฉนดที่ ๕๙๗๓ พร้อมด้วยตึกแถวให้แก่จำเลยที่ ๘และขายที่ดินโฉนดที่ ๕๙๗๔ พร้อมด้วยตึกแถวให้จำเลยที่ ๙ จดทะเบียนเมื่อ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๗ จำเลยที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ รู้ดีว่าโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์พิพาทไว้ก่อนแล้ว จึงเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่ได้ทรัพย์ตามสัญญา ทำให้โจทก์เสียหาย คือโจทก์อาจขายทรัพย์นั้นได้ไม่ต่ำกว่าคูหาละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็น ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท หักค่าซื้อแล้วคงเสียหาย ๖๘๐,๐๐๐ บาท หม่อมเจ้าหญิงจงกลนีฯ เป็นตัวการแต่งตั้งจำเลยที่ ๖ เป็นตัวแทน ย่อมมีความผูกพันต่อโจทก์ในกิจการที่จำเลยที่ ๖ กระทำไป หม่อมเจ้าหญิงจงกลนีฯ ถึงชีพิตักษัยเมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๘ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ เป็นผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ปฏิเสธความรับผิด ส่วนจำเลยที่ ๖ เฉยเสีย ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินและตึกพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๗, ๘, ๙ แล้วให้จำเลยที่ ๑ถึงที่ ๕ จดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าการโอนไม่สามารถบังคับได้ ให้จำเลยที่ ๑ถึงที่ ๕ ในฐานะผู้จัดการมรดกคืนเงิน ๓๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยพร้อมทั้งใช้ค่าเสียหายอีก ๖๘๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ให้การว่า ม.จ.หญิงจงกลนีฯ ไม่เคยทำสัญญากับโจทก์ ถ้ามีก็เป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๖ กับโจทก์ จำเลยที่ ๖ มิได้เป็นตัวแทนของ ม.จ.หญิงจงกลนีฯ ถ้าฟังว่าเป็นตัวแทนก็เป็นตัวแทนค้าต่างจำเลยที่ ๖ ดำเนินการขายที่ดินไปโดยเอกเทศโดยผู้ว่าจ้างจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้ ม.จ.หญิงจงกลนีฯ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๖ ที่ ๗ ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๓๗ ฯลฯค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไกลกว่าเหตุและไม่แน่นอน ราคาที่ดินและตึกพิพาทไม่เกินคูหาละ ๑๗๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๖ ให้การว่า เป็นตัวแทนของ ม.จ.หญิงจงกลนีฯ ขายที่ดินและตึกให้โจทก์ ได้รับเงินราคาซื้อขายครบถ้วนจริง แต่จำเลยที่ ๖ ไม่ต้องรับผิด เพราะ ม.จ.หญิงจงกลนีฯ มิได้เอาหนังสือมอบอำนาจและโฉนดมาให้จำเลยที่ ๖ จัดการโอนขายให้โจทก์และจำเลยที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ใช้กลอุบายไปรับใบมอบอำนาจแล้วไปโอนขายให้จำเลยที่ ๘ ที่ ๙ ซึ่งจำเลยที่ ๖ ไม่รู้เห็นด้วย
จำเลยที่ ๗ ให้การว่า จำเลยที่ ๗ เป็นเพียงพนักงานในสำนักงานของจำเลยที่ ๖ จำเลยที่ ๖ ให้จำเลยที่ ๗ ไปโอนขายให้จำเลยที่ ๘ ที่ ๙
จำเลยที่ ๘ ที่ ๙ ให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้เช่าตึกแถวพิพาทอยู่เดิมไม่ได้ฉ้อฉลโจทก์ จำเลยที่ ๗ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๖ ไปบอกว่าได้ตกลงจะขายที่ดินและตึกแถวที่พิพาทให้โจทก์ไปแล้ว แต่ด้วยความเห็นใจและเพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของเจ้าของที่ดินที่จะเจรจาเลิกสัญญากับโจทก์แล้วนำมาขายให้จำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าที่ดินและตึกแถวกับค่าชดเชยและค่าใช้จ่ายคนละ ๑๖๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองก็จ่ายให้จำเลยที่ ๖ ไป ต่อมาจำเลยที่ ๖ แจ้งว่าได้เจรจากับโจทก์เรียบร้อยให้จำเลยทั้งสองไปรับโอน เจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๗ ลงชื่อแทนและจดทะเบียน จำเลยทั้งสองเป็นผู้ซื้อโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต ย่อมได้กรรมสิทธิ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินและตึกพิพาทระหว่าง ม.จ.หญิงจงกลนีฯ กับจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ เสียให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนขายที่ดินและตึกพิพาทให้โจทก์ ถ้าไม่จัดการ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาหากไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้คืนเงิน ๓๒๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๐๘ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ปฏิเสธความรับผิดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จคำขอนอกนี้ให้ยก
โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่าง ม.จ.หญิงจงกลนีฯ กับจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ และจำเลยที่ ๑ถึงที่ ๕ ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่อาจโอนให้โจทก์ ก็ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ในฐานะผู้จัดการมรดกคืนเงิน ๓๒๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๐๘ แก่โจทก์ และให้ชำระค่าเสียหาย ๔๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๘ ที่ ๙ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นที่ว่าสัญญาระหว่าง ม.จ.หญิงจงกลนีฯกับจำเลยที่ ๖ นั้น เป็นสัญญาตัวแทนหรือสัญญาจ้างทำของ นั้น เห็นว่าสัญญาฉบับลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๐๖ ที่ ม.จ.หญิงจงกลนีฯ ทำไว้กับจำเลยที่ ๖ นั้น มีข้อความสำคัญว่า “ผู้ว่าจ้างตกลงให้ผู้รับจ้างขายหรือเลหลังที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดนี้ได้ในราคาไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท หรือหากต่ำกว่าราคานี้ก็ต่อเมื่อผู้รับจ้างได้รับความยินยอมจากผู้ว่าจ้างให้ขายได้” จึงมีความหมายว่า ถ้ามีผู้ซื้อเสนอขอซื้อในราคาที่กำหนดไว้นี้แล้วจำเลยที่ ๖ ย่อมมีอำนาจทำสัญญาจะซื้อขายไว้กับผู้ซื้อได้เลย ทรัพย์สินที่ให้ขายนี้มีที่ดินพร้อมด้วยตึกแถว ๒ คูหาให้โจทก์ในราคา ๓๒๐,๐๐๐ บาทจำเลยที่ ๖ จึงตกลงขายได้เลยจึงต้องถือว่าจำเลยที่ ๖ เป็นตัวแทนของม.จ.หญิงจงกลนีฯ มีอำนาจทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ได้ และสัญญาที่ทำขึ้นจึงผูกพัน ม.จ.หญิงจงกลนีฯ ที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ฎีกาว่า แม้จะฟังว่าเป็นเรื่องตัวแทน ก็เป็นตัวแทนค้าต่างตามมาตรา ๘๓๓ โดยจำเลยที่ ๖เป็นผู้มีอาชีพประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าขายทอดตลาด จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๖ ทำสัญญากับโจทก์ขายที่ดินและตึกพิพาทในนามของจำเลยที่ ๖ ก็จริง แต่เวลาจะโอนกรรมสิทธิ์เจ้าของกรรมสิทธิ์ต้องไปจัดการโอนให้ ไม่ใช่จำเลยที่ ๖ ทำการขายเป็นผลสำเร็จโดยเจ้าของไม่ต้องทำอะไรอีก จึงไม่ทำให้สัญญาระหว่าง ม.จ.หญิงจงกลนีฯ กับจำเลยที่ ๖ เป็นเรื่องตัวแทนค้าต่าง เมื่อจำเลยที่ ๖ผิดสัญญาตัวการคือ ม.จ.หญิงจงกลนีฯ โดยจำเลยที่ ๑ ถึง ๕ ผู้จัดการมรดกต้องถูกผูกพันและรับผิดต่อโจทก์ ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๕ ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ถ้าจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินและตึกให้โจทก์ได้ นอกจากจะต้องคืนเงินที่รับไว้พร้อมด้วยดอกเบี้ยแล้ว จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ จะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ซึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้ ๔๐,๐๐๐ บาท โดยไม่ปรากฏว่าคำนวณจากอะไร เมื่อโจทก์สืบไม่สมว่าค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินเท่าใด ก็ไม่ควรได้เลย และโจทก์จะได้รับดอกเบี้ยอยู่แล้ว ฝ่ายโจทก์ก็ฎีกาว่าโจทก์ควรได้ค่าเสียหาย ๖๘๐,๐๐๐ บาทนั้นศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๕ และเจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นว่านั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตามมาตรา ๒๒๒ วรรค ๒ แต่คดีนี้โจทก์นำสืบว่านางกุ้ยคิ้มและนายมุ่ยเอี๋ยวเคยไปขอซื้อที่ดินและตึกพิพาทจากโจทก์ในราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๙๐๐,๐๐๐ บาท เพียงเท่านี้ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ แต่ฟังได้ว่าที่ดินและตึกพิพาทมีราคาเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ของจำเลย ศาลมีอำนาจกำหนดให้ได้ตามที่เห็นสมควร ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ๔๐,๐๐๐ บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นพอสมควรแล้วส่วนดอกเบี้ยนั้น เมื่อจำเลยต้องคืนเงินค่าซื้อขายให้โจทก์ ก็ต้องบวกดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่คืนเข้าด้วยตามมาตรา ๓๙๑
พิพากษายืน

Share