คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2097/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์เป็นคำฟ้องชนิดหนึ่ง ดังนั้น คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อในขึ้นมาอุทธรณ์คู่ความฝ่ายนั้นจะต้องบรรยายข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อนั้นให้ชัดแจ้งมาในคำฟ้องอุทธรณ์ ซึ่งหมายความรวมตลอดไปถึงคำคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร ส่วนเนื้อหาของคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น หากไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อุทธรณ์แล้วก็ไม่จำต้องกล่าวมาในคำฟ้องอุทธรณ์โดยละเอียด ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและงวดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วมีคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยบรรยายมาในคำฟ้องอุทธรณ์ใจความว่า โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จากจำเลย500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำฟ้องโจทก์เห็นได้ว่าจำเลยค้างดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด มิใช่นับแต่วันกู้ และดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปแล้วมิใช่อัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากแต่เป็นอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ซึ่งขัดต่อกฎหมาย โจทก์ส่งหนังสือทวงถามโดยมิชอบ จำเลยมีพยานหลักฐานพร้อมที่จะสืบแสดงตามข้อต่อสู้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงวดชี้สองสถานและงดสืบพยานจึงเป็นการตัดสิทธิของจำเลยดังนี้ เห็นได้แล้วว่าจำเลยอุทธรณ์เรื่องอะไรด้วยเหตุผลอะไรทั้งในคำสั่งของศาลชั้นต้นก็มิได้ให้เหตุผลอันจะทำให้จำเลยสามารถยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นมาโต้แย้งได้อุทธรณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้ว ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246ที่ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาบังคับใช้ในชั้นอุทธรณ์โดยอนุโลมนั้นหมายถึงให้อนุโลมใช้บางเรื่องเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยอ้างว่าไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 937,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 500,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่าได้กู้เงินโจทก์จริง แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ต้องห้ามตามกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพราะมิได้กำหนดไว้ในสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน512,740 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน500,000 บาท นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานส่วนโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นคำฟ้องซึ่งต้องอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 จำเลยจึงต้องบรรยายเนื้อหาแห่งคำฟ้อง คำให้การและคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้บรรยายเนื้อหาดังกล่าวในอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ประกอบมาตรา 246 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย และพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2533จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน437,500 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้อุทธรณ์จะเป็นคำฟ้องชนิดหนึ่งแต่ก็เป็นคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ คู่ความที่อุทธรณ์จะต้องบรรยายข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในคำฟ้องอุทธรณ์อย่างไรเพียงใดนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ว่า “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อใดขึ้นมาอุทธรณ์คู่ความฝ่ายนั้นจะต้องบรรยายข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อนั้นให้ชัดแจ้งมาในคำฟ้องอุทธรณ์ ซึ่งหมายความรวมตลอดไปถึงคำคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร สำหรับเนื้อหาของคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น หากไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อุทธรณ์แล้วก็ไม่จำต้องกล่าวมาในคำฟ้องอุทธรณ์โดยละเอียดคดีนี้ในวันนัดชี้สองสถานศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วมีคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยเห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งที่มิชอบจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยจำเลยบรรยายมาในคำฟ้องอุทธรณ์ใจความว่า โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จากจำเลย 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำฟ้องโจทก์เห็นได้ว่าจำเลยค้างดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดมิใช่นับแต่วันกู้ และดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปแล้วมิใช่อัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากแต่เป็นอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งขัดต่อกฎหมาย โจทก์ส่งหนังสือทวงถามโดยมิชอบจำเลยมีพยานหลักฐานพร้อมที่จะสืบแสดงตามข้อต่อสู้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานจึงเป็นการตัดสิทธิของจำเลยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวพอเห็นได้แล้วว่า จำเลยอุทธรณ์เรื่องอะไรด้วยเหตุผลอะไร ในคำสั่งของศาลชั้นต้นก็มิได้ให้เหตุผลอะไรมากอันจะทำให้จำเลยสามารถยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นมาโต้แย้งได้อุทธรณ์ของจำเลยที่กล่าวมาถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้วที่มาตรา 246 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาบังคับใช้ในชั้นอุทธรณ์โดยอนุโลมนั้น หมายถึงให้อนุโลมใช้บางเรื่องเท่านั้น หาใช่ทุกเรื่องไม่
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และของจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share