แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” แสดงว่าผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขยายผลในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิมของผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าว แต่ข้อมูลที่จำเลยแจ้งต่อร้อยตำรวจเอก อ. เป็นข้อมูลของ ม. ที่เกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยไปรู้จักกับ ม. ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ด้วยกันในเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนคดีนี้จำเลยให้การว่าจำเลยซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจาก ต. โดยทางไต่สวนไม่ปรากฏว่า ต. เป็นเครือข่ายหรือเกี่ยวข้องร่วมกับ ม. ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ การให้ข้อมูลของจำเลยต่อร้อยตำรวจเอก อ. ดังกล่าวข้างต้นเป็นการให้ข้อมูลถึงผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในฐานะพลเมืองดีเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อมูลในการขยายผลที่เกี่ยวโยงไปถึงเครือข่ายของผู้กระทำความผิดที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยในมูลเหตุที่จำเลยถูกจับกุมคดีนี้ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ พร้อมกับยื่นคำร้องว่าจำเลยให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ขอให้ลงโทษสถานเบาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสอง จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 600,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน และปรับ 300,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 100/2 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 3 ปี 9 เดือน และปรับ 300,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 10 เดือน 15 วัน และปรับ 150,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า หลังจากจำเลยถูกจับกุมแล้ว ระหว่างถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร จำเลยได้รู้จักกับนายใหม่ ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริงซึ่งเป็นผู้ต้องขังด้วยกันนายใหม่บอกว่าสามารถจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนได้ หลังจากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยได้ติดต่อแจ้งให้ร้อยตำรวจเอก อัครินทร์ เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจำเลยทราบและได้ไปพบนายใหม่ที่เรือนจำเกี่ยวกับการซื้อขายเมทแอมเฟตามีน นายใหม่แจ้งว่าจะติดต่อคนส่งเมทแอมเฟตามีนแล้วจะแจ้งให้ทราบ ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม 2557 นายใหม่โทรศัพท์แจ้งนัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีน 30 กรัม ที่ตกลงซื้อขายกันในเวลา 14 นาฬิกา ที่บริเวณหน้าวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร จำเลยไปพบร้อยตำรวจเอกอัครินทร์ เพื่อวางแผนจับกุม ถึงเวลานัดหมายร้อยตำรวจเอก อัครินทร์กับพวกเข้าจับกุมนายวสันต์ แต่นายวสันต์ขับรถกระบะหลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจปิดล้อมและเจรจาให้มอบตัว แต่นายวสันต์ใช้อาวุธปืนยิงตัวตาย ตรวจค้นภายในรถกระบะพบเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดสีขาว 2 ถุง น้ำหนักสุทธิ 32.5 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 29.108 กรัม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ เมื่อพิจารณามาตรา 100/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แล้ว บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” เห็นว่า จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงว่าผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขยายผลในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิมของผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับประโยชน์จากมาตรา 100/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ข้อมูลที่จำเลยแจ้งต่อร้อยตำรวจเอก อัครินทร์ เป็นข้อมูลของนายใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยไปรู้จักกับนายใหม่ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ด้วยกันในเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนคดีนี้จำเลยให้การว่าจำเลยซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากนายติ๊ก ไม่ปรากฏชื่อและชื่อสกุลจริงเท่านั้น โดยทางไต่สวนไม่ปรากฏว่านายติ๊กเป็นเครือข่ายหรือเกี่ยวข้องร่วมกับนายใหม่ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ การให้ข้อมูลของจำเลยต่อร้อยตำรวจเอก อัครินทร์ดังกล่าวข้างต้นเป็นการให้ข้อมูลถึงผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในฐานะพลเมืองดีเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อมูลในการขยายผลที่เกี่ยวโยงไปถึงเครือข่ายของผู้กระทำความผิดที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยในมูลเหตุที่จำเลยถูกจับกุมคดีนี้ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น