คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2056/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรโจทก์กับบุตรจำเลยเป็นเพื่อนกันได้พากันขับรถพาเพื่อนออกไปเที่ยวโดยมีบุตรโจทก์เป็นผู้ขับ หลังจากพาเพื่อนกลับมาแล้วบุตรโจทก์ได้ขับรถออกไปกับบุตรจำเลยอีก โดยจำเลยไม่ทราบและไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อแสดงให้เห็นว่าบุตรจำเลยจะทำหน้าที่ขับรถแทนบุตรโจทก์หลังจากนั้นบุตรจำเลยโดยความประมาทเลินเล่อขับรถโจทก์ไปประสบอุบัติเหตุเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบุตรจำเลยตามสมควรแก่หน้าที่ในขณะนั้นแล้วจำเลยไม่ต้องร่วมรับผิดกับบุตรผู้เยาว์ด้วย
แม้จำเลยจะไม่ต้องร่วมรับผิดกับบุตรผู้เยาว์ในผลแห่งละเมิดที่บุตรผู้เยาว์กระทำลงเพราะจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากเกิดเหตุจำเลยได้ไปตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่บุตรจำเลยทำละเมิดต่อพนักงานสอบสวน แสดงว่าจำเลยยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการทำละเมิดของบุตรจำเลยข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเขตภูมิ แดงโสภณ อายุ 19 ปี ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรอยู่ในความปกครองของจำเลย ได้ขับรถยนต์ของโจทก์ไปธุรกิจส่วนตัว นายเขตภูมิขับรถไปตามถนนสายสุพรรณบุรี-อ่างทอง ด้วยความเร็วสูงและในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ชนรถบรรทุกซึ่งขับสวนทางมา เป็นเหตุให้รถยนต์โจทก์เสียหาย จำเลยในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนายเขตภูมิผู้เยาว์ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 47,993 บาท ซึ่งจำเลยยอมรับชดใช้ตามบันทึกของพนักงานสอบสวน โจทก์ทวงถามค่าเสียหายแต่จำเลยผัดผ่อนเสมอมา ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า วันเกิดเหตุนายบุญทวี เรือนภู่ บุตรโจทก์ชวนนายเขตภูมิบุตรจำเลยไปเที่ยวโดยนายบุญทวีเป็นคนขับรถ จำเลยห้ามก็ไม่เชื่อฟังและไปดื่มสุราจนนายบุญทวีครองสติไม่ได้ จึงให้นายเขตภูมิขับรถแทน จนเกิดเหตุขึ้น จำเลยมิได้ไปด้วยไม่มีโอกาสห้ามนายเขตภูมิมิให้ขับรถ จำเลยไม่ต้องรับผิดและจำเลยไม่เคยตกลงใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ค่าเสียหายไม่เกิน 3,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายเขตภูมิ การที่จำเลยรับว่าจะชดใช้ค่าเสียหายและรับซ่อมให้ตามเอกสารหมาย จ.1 มิใช่เป็นการรับสารภาพความผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเอกสารหมาย จ.1 ถือได้ว่าเป็นข้อสัญญาซึ่งมีมูลหนี้มาจากบุตรจำเลยทำละเมิดจึงต้องผูกพันตามกฎหมาย พิพากษากลับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีที่ผู้เยาว์ทำละเมิดบิดามารดาย่อมต้องรับผิดร่วมกับผู้เยาว์ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายบุญทวีบุตรโจทก์ขับรถยนต์ของโจทก์พาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวครั้นกลับมาแล้วก็ออกไปอีกกับนายเขตภูมิเพียง 2 คน บอกว่าจะไปรับประทานข้าวต้มไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่านายเขตภูมิจะต้องทำหน้าที่ขับรถแทนนายบุญทวีที่นายเขตภูมิออกจากบ้านไปกับนายบุญทวีในตอนหลังนี้จำเลยไม่ทราบ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยใช้ความระมัดระวังดูแลนายเขตภูมิตามสมควรแก่หน้าที่ในขณะนั้นแล้ว แต่ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่าในตอนเช้าวันเกิดเหตุนั้นเอง จำเลยในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนายเขตภูมิ ได้ตกลงต่อหน้าพนักงานสอบสวนยินยอมใช้ค่าเสียหายและรับซ่อมรถยนต์ให้โจทก์ด้วย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีความว่า “ส่วนรถเก๋งยี่ห้อเฟียตหมายเลขทะเบียนส.พ.07330 ซึ่งนางเพ็ญแข เรือนภู่ บ้านเลขที่ 3812 ถนนมาลัยแมน ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นเจ้าของรถและได้รับความเสียหายเนื่องจากนายเขตภูมิได้ขับรถยนต์ไปชนกับรถยนต์ของผู้อื่น นางมาริสายินดีจะชดใช้ค่าเสียหายและรับซ่อมให้ โดยนางมาริสากับนางเพ็ญแขได้ตกลงกันเองเรียบร้อยแล้ว” ข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการทำละเมิดของนายเขตภูมิ ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลย

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 15,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

Share