แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะมาถึงสี่แยกหนองขาหยั่งขณะนั้นสัญญาณจราจรไฟซึ่งติดตั้งไว้บนทางที่จำเลยที่ 2 ขับมาขึ้นเป็นไฟสีแดงซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องชะลอความเร็วของรถลงและหยุดรอจนกว่าสัญญาณจราจรไฟจะเปลี่ยนเป็นไฟสีเขียวจึงจะขับรถแล่นเข้าบริเวณสี่แยกนั้นได้ จำเลยที่ 2 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 2 กลับขับรถแล่นตรงเข้าสี่แยกดังกล่าวทันที เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียด ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ขับรถแล่นเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุด้วยความเร็วโดยมิได้ลดความเร็วลงและให้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับซึ่งแล่นมาทางด้านขวาผ่านไปก่อน เป็นการขาดความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อันเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำโดยประมาทตามที่กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 300 ได้
จำเลยที่ 2 ไม่ชะลอรถก่อนเข้าทางร่วมแยกและให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แล่นผ่านไปก่อนโดยประมาททำให้รถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส แม้เหตุที่จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเกิดจากมีพลเมืองดีขึ้นไปสตาร์ตรถทำให้น้ำในหม้อน้ำรถยนต์กระบะแตกลวกตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งนอนอยู่ใต้รถ แต่การที่จำเลยที่ 1 ถูกน้ำร้อนลวกบริเวณหน้าอกและหน้าท้องเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับพวกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 70, 71, (1) (3), 148, 157
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 70, 148, 157 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70, 148 ลงโทษปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุมาตามถนนยิงเป้าใต้ (หรือถนนหนองขาหยั่ง) มุ่งหน้าไปทางถนนยิงเป้าถึงสี่แยกหนองขาหยั่ง ซึ่งเป็นสี่แยกที่ถนนเพชรเกษมตัดกับถนนยิงเป้าและยิงเป้าใต้ มีสัญญาณจราจรไฟอัตโนมัติควบคุมการเดินรถ ถนนเพชรเกษมช่วงดังกล่าวทางเดินรถแบ่งเป็นสองด้านด้านสวนทางกันมีเกาะกลางถนนกั้นกลาง ด้านหนึ่งเป็นทางเดินรถจากกรุงเทพมหานครไปสู่จังหวัดราชบุรี อีกด้านหนึ่งเป็นทางเดินรถจากจังหวัดราชบุรีไปสู่กรุงเทพมหานคร ทางเดินรถแต่ละด้านมีช่องเดินรถ 5 ช่อง เป็นช่องทางด่วน 3 ช่อง ตรงกลางติดกับเกาะกลางถนน อีก 2 ช่อง เป็นช่องคู่ขนานอยู่ด้านริมและมีเกาะกั้นระหว่างช่องทางด่วนกับช่องทางคู่ขนาน สัญญาณจราจรไฟ ณ สี่แยกเกิดเหตุมีสัญญาณไฟเขียว 4 จังหวะ จังหวะที่ 1 ให้สัญญาณแก่รถที่แล่นบนถนนเพชรเกษมทั้งสองด้านทุกช่องทางแล่นผ่านได้ จังหวะที่ 2 ให้สัญญาณแก่รถที่แล่นบนถนนเพชรเกษมซึ่งมุ่งหน้าไปจังหวัดราชบุรีเลี้ยวขวาเข้าถนนยิงเป้า และรถที่แล่นบนถนนเพชรเกษมมุ่งหน้ากรุงเทพมหานครเลี้ยวขวาเข้าถนนยิงเป้าใต้ จังหวะที่ 3 ให้สัญญาณแก่รถที่แล่นบนถนนยิงเป้าแล่นตรงไปยังถนนยิงเป้าใต้หรือเลี้ยวซ้ายขวาไปตามถนนเพชรเกษม จังหวะที่ 4 ให้สัญญาณแก่รถบนถนนยิงเป้าใต้แล่นตรงไปยังถนนยิงเป้าหรือเลี้ยวซ้ายขวาไปตามถนนเพชรเกษม เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาจากถนนยิงเป้าใต้ตัดถนนเพชรเกษมผ่านช่องทางด่วนและกำลังจะเลี้ยวขวาเข้าช่องทางคู่ขนานก็เกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 ซึ่งแล่นมาตามถนนเพชรเกษมในช่องทางคู่ขนานในทางเดินรถจากด้านจังหวัดราชบุรีมุ่งหน้ากรุงเทพมหานครโดยขณะนั้นจำเลยที่ 2 ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว จากการชนกันดังกล่าวทำให้รถทั้งสองคันเสียหาย จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3), 70, 71 (1) (3) โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้วขับรถเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุโดยไม่ชะลอความเร็วของรถจนเกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 นั้น เป็นกรณีข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องและโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะไปตามถนนเพชรเกษมจากจังหวัดราชบุรีมุ่งหน้าไปยังสี่แยกหนองขาหยั่งเพื่อไปจังหวัดนครปฐม ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เมื่อมาถึงสี่แยกดังกล่าวซึ่งเป็นสี่แยกที่ถนนยิงเป้าและถนนยิงเป้าใต้ (ถนนหนองขาหยั่ง) มาบรรจบกับถนนเพชรเกษม ขณะนั้นสัญญาณจราจรไฟซึ่งติดตั้งไว้บนทางที่จำเลยที่ 2 ขับมาขึ้นเป็นไฟสีแดงซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องชะลอความเร็วของรถลงและหยุดรอจนกว่าสัญญาณจราจรไฟจะเปลี่ยนเป็นไฟสีเขียวจึงจะขับรถแล่นเข้าบริเวณสี่แยกนั้นได้ จำเลยที่ 2 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 2 กลับขับรถแล่นตรงเข้าสี่แยกดังกล่าวทันที เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียด ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ขับรถแล่นเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุด้วยความเร็วโดยมิได้ลดความเร็วลงและให้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับซึ่งแล่นมาทางด้านขวาผ่านไปก่อน เป็นการขาดความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อันเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทตามที่กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากฟ้องและโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้วจึงขับรถจักรยานยนต์ออกมา แต่เนื่องจากสัญญาณจราจรไฟเปลี่ยนเร็วมาก เมื่อรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แล่นมาถึงจุดเกิดเหตุสัญญาณจราจรไฟทางด้านของจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนเป็นสีแดงในขณะเดียวกันสัญญาณจราจรไฟทางด้านของจำเลยที่ 2 ได้เปลี่ยนเป็นสีเขียวแล้ว ซึ่งแม้จำเลยที่ 2 จะสามารถแล่นรถผ่านไปได้ แต่จุดดังกล่าวเป็นทางร่วมทางแยก จำเลยที่ 2 ควรใช้ความระมัดระวังดูรถทางฝั่งขวามือว่ายังมีรถแล่นมาหรือไม่ ทั้งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันหากจำเลยที่ 2 ใช้ความสังเกตก็จะเห็นว่ามีรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แล่นผ่านมาแต่จำเลยที่ 2 หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ กลับขับรถผ่านทางร่วมทางแยกดังกล่าวโดยไม่ชะลอความเร็วของรถลงเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 เหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส และแม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากมีพลเมืองดีขึ้นไปสตาร์ตรถทำให้น้ำในหม้อน้ำรถยนต์กระบะแตกลวกตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งนอนอยู่ใต้รถนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ถูกน้ำร้อนลวกเป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นได้จากการที่รถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังชะลอรถก่อนเข้าทางร่วมทางแยกและให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แล่นผ่านไปก่อนเหตุในคดีนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ถูกน้ำร้อนลวกบริเวณหน้าอกและหน้าท้องจึงเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7