คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2013/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำเช็คจำนวนเงิน 120,000 บาท เข้าฝากในบัญชีออมทรัพย์ที่ธนาคารโจทก์ โจทก์ลงบัญชีซ้ำอีกครั้งหนึ่ง รวมเป็นเงิน240,000 บาท จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีเหลือเพียง 57 บาท 32สตางค์ ดังนี้ โจทก์มีสิทธิเรียกเงิน 120,000 บาท คืนได้ กรณีเป็นเรื่องลงบัญชีซ้ำซ้อนเนื่องจากความพลั้งเผลอหาใช่เป็นการกระทำการตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ไม่ และการที่จำเลยปฏิเสธไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ตามคำบอกกล่าว จำเลยจึงผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นลูกค้าและมีบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์กับโจทก์จำเลยได้นำเงินเป็นแคชเชียร์เช็คจำนวน 120,000 บาท เข้าฝากในบัญชีของจำเลยโจทก์เรียกเก็บเงินได้จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีให้จำเลย ต่อมาโจทก์ได้นำเงินจำนวน 120,000บาท เข้าบัญชีของจำเลยอีกครั้งหนึ่ง จำนวนเกินไป 120,000 บาทซึ่งจำเลยรับไว้โดยไม่มีมูลจะอ้างกฎหมายได้ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าโจทก์ลงบัญชีนำเงินเข้าให้จำเลยสองครั้งมิใช่ความผิดพลาดของพนักงานโจทก์ แต่เป็นการกระทำตามอำเภอใจของโจทก์เองเหมือนหนึ่งว่าชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องกระทำเช่นนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลย จำเลยรับเงินไว้โดยสุจริต ขณะที่โจทก์ทวงถามได้ถอนเงินจำนวนนี้ออกจากบัญชีของจำเลยและใช้จ่ายไปหมดแล้วจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 120,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่าข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่ามีการนำเงินเข้าบัญชีฝากออมทรัพย์ของจำเลยจำนวน 120,000 บาท ซ้ำซ้อนกัน 2 ครั้ง เพราะความพลั้งเผลอจริง แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า ‘ที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้โจทก์ควรมีสิทธิเรียกได้เพียงเท่าที่เหลืออยู่ในบัญชีคือจำนวน 57 บาท 32 สตางค์ และหากโจทก์นำเข้าบัญชีซ้ำซ้อนกันก็เป็นเรื่องที่โจทก์ปฏิบัติการเสมือนการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้นั้น เห็นว่าเมื่อได้ความว่าโจทก์ลงบัญชีให้จำเลยซ้ำอีกครั้งหนึ่งจำนวน 120,000 บาท รวมเป็นเงินยอดนี้ 240,000 บาท และจำเลยได้ถอนเอาเงินออกจากบัญชีของจำเลยเหลือเพียง 57 บาท 32 สตางค์ ซึ่งเป็นเงินส่วนของจำเลยเองทีเหลืออยู่ แสดงว่าจำเลยเอาเงินของโจทก์ไปจำนวน 120,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนจำนวน 120,000 บาท แก่โจทก์ได้หาใช่คืนเฉพาะส่วนเงินที่เหลืออยู่ในบัญชี 57 บาท 32 สตางค์เท่านั้นไม่ การที่โจทก์ลงบัญชีให้จำเลยซ้ำซ้อนกันก็เนื่องจากความพลั้งเผลอของพนักงานโจทก์ หาใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้ โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 407 โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยได้
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาลาภมิควรได้คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406 จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยจากจำเลยนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนเงินที่ลงบัญชีพลั้งพลาดให้จำเลยไปจำเลยปฏิเสธไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ตามวันที่ได้กำหนดไว้ในคำบอกกล่าวจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 204 วรรคสอง และเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในระหว่างที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนั้นชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2526ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวเป็นต้นไปนั้นไม่ถูกต้องเพราะตามหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้จำเลยชำระเงินคืนภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือบอกกล่าว และปรากฏว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2526 จำเลยจึงผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นไป ดังนั้นจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงจะถูกต้อง’
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share