คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1999/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46วรรคสี่ข้อความที่ว่า”การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน2ปี”ข้อความที่ว่างานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน2ปีย่อมหมายความว่าเป็นงานทั้งหมดที่นายจ้างต้องกระทำให้แล้วเสร็จใน2ปีหาใช่หมายถึงเฉพาะระยะเวลาการจ้างที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างสำหรับลูกจ้างแต่ละคนไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2537 จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งนักสำรวจปริมาณงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน270,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินจำนวน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างในโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทระยองรีไฟน์เนอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการเฉพาะของจำเลยหรือเป็นการทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวมีกำหนดการสิ้นสุดของงาน และจำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นหนังสือเมื่อเริ่มจ้างโดยมีกำหนดเวลาจ้างแน่นอนไม่เกิน 2 ปีและได้เลิกจ้างตามกำหนดนั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยจำนวน 195,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสี่ข้อความที่ว่า “การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสาม ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี” คำว่า 2 ปี ย่อมหมายความว่าเป็นระยะเวลาการจ้างงานที่ระบุอยู่ในสัญญาจ้างแต่ละฉบับสำหรับลูกจ้างแต่ละคน มิใช่ระยะเวลาของโครงการนั้น เห็นว่า ข้อความที่ว่างานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี ย่อมหมายความว่าเป็นงานทั้งหมดที่นายจ้างต้องกระทำให้แล้วเสร็จใน 2 ปีหาใช่หมายถึงเฉพาะระยะเวลาการจ้างที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างสำหรับลูกจ้างแต่ละคนไม่ เพราะหากตีความเช่นนั้นก็จะทำให้มีการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย โดยใช้วิธีระบุระยะเวลาในสัญญาจ้างไม่เกิน 2 ปีแม้งานนั้นจะต้องใช้ระยะเวลากระทำเกินกว่า 2 ปี ซึ่งย่อมไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน
ข้อที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อไปว่า งานที่โจทก์ทำให้จำเลยทั้งสองเป็นการทำงานในพื้นที่เฉพาะตามที่จำเลยทั้งสองมอบหมายและงานแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี ย่อมถือว่างานในส่วนของโจทก์เป็นงานโครงการเฉพาะซึ่งมีระยะเวลาของงานไม่เกิน 2 ปีจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์นั้น เห็นว่างานที่จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้โจทก์ทำก็เป็นส่วนหนึ่งของงานการก่อสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันของจำเลยทั้งสองซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้างเกินกว่า 2 ปี การพิจารณาว่างานที่ทำแล้วเสร็จเมื่อใดต้องพิจารณาจากงานทั้งหมด ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดของงานและเมื่องานที่จำเลยทั้งสองต้องก่อสร้างใช้เวลาเกินกว่า 2 ปีแม้งานส่วนที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์ทำจะมีเวลาไม่เกิน 2 ปีจำเลยทั้งสองก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โครงการก่อสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันของจำเลยทั้งสองเป็นโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยทั้งสองหรืองานที่จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์มีลักษณะงานเป็นครั้งคราวนั้น เห็นว่า เมื่อฟังได้ว่างานก่อสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันของจำเลยทั้งสองมีระยะเวลาก่อสร้างเกิน 2 ปี ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่างานดังกล่าวเป็นโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยทั้งสองหรืองานที่จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์มีลักษณะเป็นครั้งคราวหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นงานประเภทหนึ่งประเภทใดดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม เมื่องานนั้นต้องแล้วเสร็จเกิน 2 ปี ก็ย่อมไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยทั้งสองไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share