คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1993/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องทายาทผู้ตายขอให้คืนเงินที่ผู้ตายกู้ยืมไปให้แก่โจทก์โดยกล่าวในฟ้องว่า ผู้ตายทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินเพื่อปลูกห้องแถวโดยสิ่งปลูกสร้างจะต้องตกเป็นของผู้ตาย ต่อมาผู้ตายได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ตกลงจะชำระคืนให้โจทก์ภายในเวลาที่กำหนด หรือเมื่อห้องที่โจทก์เช่าถูกไฟไหม้ หรืออาคารที่สร้างชำรุด และโจทก์ไม่ทำการก่อสร้างใหม่ภายใน 6 เดือน ให้ถือว่าสัญญากู้ยืมเป็นอันระงับ ผู้ตายต้องคืนเงินให้แก่โจทก์และระบุไว้ในสัญญาข้อหนึ่งว่า “ในระหว่างอายุแห่งสัญญานี้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ถ้าผู้ให้สัญญา(ผู้ตาย) ถึงแก่กรรม ผลแห่งสัญญานี้ผู้ให้สัญญายอมให้ผูกพันทายาทผู้รับทรัพย์มรดกรายนี้ต่อไปจนครบอายุสัญญา หรือตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ . . . . .” ตามสัญญาข้อนี้แสดงให้เห็นว่าหนี้รายนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อทายาทของผู้ตายได้รับที่ดินแปลงที่โจทก์เช่าจากเจ้ามรดกแล้วกรณีแห่งคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลย (ทายาท) คืนเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยในฐานะที่จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับผู้ตาย ซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยเป็นผู้รับมรดกของผู้ตายเฉพาะที่แปลงที่โจทก์เช่าเป็นคู่สัญญากับโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์เป็นเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดก จะนำบทบัญญัติมาตรา 1754 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้คืนเงินที่ผู้ตายได้กู้ยืมไปให้แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยโดยกล่าวในฟ้องว่า ผู้ตายทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างห้องแถวโดยสิ่งปลูกสร้างจะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ตาย ต่อมาผู้ตายได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยตกลงจะชำระคืนให้โจทก์ภายในเวลาที่กำหนด หรือเมื่อห้องที่โจทก์เช่าถูกไฟไหม้ หรืออาคารที่สร้างชำรุด และโจทก์ไม่ทำการก่อสร้างใหม่ภายใน ๖ เดือน ให้ถือว่าสัญญากู้ยืมเป็นอันระงับ ผู้ตายต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ และระบุไว้ในสัญญาข้อหนึ่งว่า “ในระหว่างอายุแห่งสัญญานี้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ถ้าผู้ให้สัญญา (ผู้ตาย) ถึงแก่กรรม ผลแห่งสัญญานี้ผู้ให้สัญญายอมให้ผูกพันทายาทผู้รับทรัพย์มรดกรายนี้ต่อไปจนครบอายุสัญญา หรือตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ . . . . .” จำเลยทั้ง ๕ เป็นทายาทของผู้ตาย เป็นผู้มีส่วนได้รับมรดกที่ดินแปลงที่โจทก์เช่าและมีความผูกพันที่จะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องเป็นมรดกตกให้แก่จำเลยที่ ๔ ซึ่งโจทก์ทราบดีว่าเป็นผู้รับทรัพย์มรดกแปลงนี้ โจทก์ไม่เคยติดต่อกับจำเลยทั้งสามแต่ประการใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
จำเลยที่ ๔ ให้การว่าสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นกรณีที่บิดาจำเลยยืมเงินจากโจทก์โดยนำเอาห้องแถวและที่ดินเป็นประกัน เมื่อบิดาจำเลยตายใน พ.ศ.๒๕๑๕ สิทธิและหน้าที่จึงตกทอดแก่ทายาท โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องจัดให้มีการชำระหนี้จากกองมรดก หรือจากทายาทแล้วแต่กรณีภายในอายุความมรดก ๑ ปี โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๘ เป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ สัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นสัญญาที่โจทก์มีทางได้ฝ่ายเดียว เป็นสัญญาที่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องเรียกเงินกู้จากทายาท ไม่ใช่เรียกเงินคืนฐานหนี้อย่างอื่น ไม่ใช่เรื่องเช่า หากเป็นเรื่องเช่าสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปโดยการสูญายของทรัพย์สินที่เช่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ตนได้ยึดถือไว้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๘๙ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปีนับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ วรรคสาม ไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นต่อไป พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ตายมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว และสัญญาระบุไว้ชัดแจ้งว่าในระหว่างอายุสัญญานี้ยังมีผลบังคับอยู่ ถ้าผู้ตายถึงแก่ความตายก็ให้สัญญาผูกพันทายาทผู้รับทรัพย์มรดกต่อไปจนครบอายุสัญญา หรือตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ ฉะนั้น หลังจากผู้ตายตายแล้วจำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินและอาคารที่โจทก์เช่าจึงต้องผูกพันตามสัญญาระหว่างโจทก์กับผู้ตายต่อไปโดยผลแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙ วรรคแรก เพราะสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญานี้มิใช่เป็นการเฉพาะตัวของนายเจริญผู้ตายโดยแท้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยในฐานะที่จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับผู้ตาย ซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์แทนผู้ตายแล้ว หาใช่โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากกองมรดกของผู้ตายไม่ จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ วรรคสามมาใช้บังคับไม่ได้ คดีจำต้องพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยในประเด็นอื่นต่อไป พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ตามนัยที่กล่าวแล้วพิพากษาใหม่ พร้อมทั้งส่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลด้วย
จำเลยที่ ๔ ผู้เดียวฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์มิใช่เป็นเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตาย เพราะขณะนี้ผู้ตายตายเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ นั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับหนี้รายนี้ยังมิได้เกิดขึ้น ต่อเมื่อเกิดเพลิงไหม้ และห้องแถวที่โจทก์เช่าจากผู้ตายได้ถูกไฟไหม้ไปด้วย และโจทก์มิได้ปลูกสร้างอาคารขึ้นใหม่ในที่ดินที่โจทก์เช่าภายใน ๖ เดือนตามสัญญา อันเป็นเหตุให้สัญญาดังกล่าวระงับลงสิทธิเรียกร้องในหนี้รายนี้จึงได้เกิดขึ้นซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่เจ้ามรดกได้ตายไปแล้ว และตามสัญญาได้ระบุไว้ชัดว่า “ในระหว่างอายุแห่งสัญญานี้ยังมีผลบังคับอยู่ ถ้าผู้ให้สัญญา (ผู้ตาย) ถึงแก่กรรม ผลแห่งสัญญานี้ ผู้ให้สัญญายอมให้ผูกพันทายาทผู้รับทรัพย์มรดกรายนี้ต่อไปจนครบอายุสัญญา หรือตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ . . . . .” ตามสัญญาข้อนี้เป็นที่เห็นได้ว่า หนี้รายนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อทายาทของผู้ตายได้รับที่ดินแปลงที่โจทก์เช่าจากเจ้ามรดกแล้ว กรณีแห่งคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยในฐานะที่จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับผู้ตาย ซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยผู้รับมรดกของผู้ตายเฉพาะที่แปลงที่โจทก์เช่าเป็นคู่สัญญากับโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์เป็นเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกจะนำบทบัญญัติมาตรา ๑๗๕๔ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้ ทั้งกรณีมิได้เกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา ๑๘๙ และ ๒๔๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่จำเลยฎีกาแต่ประการใด
พิพากษายืน

Share