คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1990/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์จำเลย และในวันที่ 20 มิถุนายน 2518 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลอายัดเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. ซึ่งจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเงินค่าก่อสร้างจำนวน 52,600 บาท ซึ่งจะได้รับจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ศาลชั้นต้นออกหมายอายัดในวันที่โจทก์ยื่นคำร้องและสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเงินต่อศาลภายในกำหนด 10 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งวันที่ 3 กรกฎาคม 2518 ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเงิน 52,600 บาทมาให้ตามหมายอายัด หนังสือนำส่งเงินมาถึงศาลชั้นต้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2518 ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2518 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงิน 52,600 บาท ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินที่พิพาทหลังจากวันที่ศาลชั้นต้นได้รับเงินไว้แล้วถึง 9 หรือ 10 วัน ล่วงพ้นกำหนดเวลาตามความในตอนต้นของมาตรา 290 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว
การที่ผู้ร้องเพิ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2518 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ ศาลชั้นต้นได้รับเงินที่อายัดไว้แล้วนั้นย่อมถือไม่ได้ว่าเป็น “กรณีใด” ดังที่บัญญัติไว้ตอนท้ายของมาตรา 290 วรรคสี่ ตรงกันข้ามกลับจะแสดงว่าในวันที่ศาลชั้นต้นสั่งให้อายัดเงินที่พิพาทก็ดี หรือวันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเงินมาให้ศาลก็ดี ผู้ร้องยังหาได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีสิทธิที่จะยื่นคำขอเฉลี่ยเงินจำนวนพิพาทไม่ คำว่า “กรณีใด ๆ ” ในตอนท้ายของมาตรา 290 วรรคสี่นั้นเป็นเพียงข้อยกเว้นของตอนต้นเท่านั้น เมื่อกรณีใดต้องด้วยข้อความในตอนต้นโดยตรงแล้ว ก็ย่อมจะนำข้อยกเว้นมาใช้แก่กรณีนั้นอีกไม่ได้

ย่อยาว

คดีเดิมศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยผ่อนชำระเงินงวด ๆ จำเลยผิดนัด โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดียกทรัพย์จำเลย และในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๘ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลอายัดเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองคายไทยก่อสร้าง ซึ่งจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเงินค่าก่อสร้างจำนวน ๕๒,๖๐๐ บาท ซึ่งจะได้รับจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ศาลชั้นต้นออกหมายอายัดในวันที่โจทก์ยื่นคำร้อง สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเงินต่อศาลภายในกำหนด ๑๐ วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเงิน ๕๒,๖๐๐ บาทมาให้ตามหมายอายัด หนังสือนำส่งเงินมาถึงศาลชั้นต้นในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๑๘
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์สินจากเงินจำนวน ๕๒,๖๐๐ บาท ซึ่งศาลชั้นต้นได้รับไว้ตามหมายอายัดโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้ส่งเงินที่พิพาทตามหมายอายัดของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๑๘ และศาลชั้นต้นได้รับเงินจำนวนนี้ไว้เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๑๘ แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินที่พิพาทเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๘ จึงเป็นการยื่นหลังวันที่ สั่งหรือศาลชั้นต้นได้รับเงินไว้แล้วถึง ๙ หรือ ๑๐ วัน ล่วงพ้นกำหนดเวลาตามความในตอนต้นของมาตรา ๒๙๐ วรรคสี่แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไปแล้ว ข้อที่ผู้ร้องอ้างมาในฎีกาว่า กรณีของจะต้องปรับด้วยข้อความตอนท้ายของมาตรา ๒๙๐ วรรคสี่ ผู้ร้องควรมีสิทธิยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์คืนได้ภายในกำหนด ๑ เดือนนับแต่วันอายัดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อโต้แย้งของผู้ร้องดังนั้นยังไม่เป็นการถูกต้อง เพราะถ้าหากเป็นไปดังที่ผู้ร้องเข้าใจแล้วก็จะกลายเป็นว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น ๆ ก็จะสามารถเลือกใช้กฎหมายได้ตามใจชอบ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นได้ การที่ผู้ร้องเพิ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ศาลชั้นต้นได้รับเงินที่อายัดไว้แล้วนั้น ย่อมถือไม่ได้ว่า เป็น “กรณีใด ๆ ” ในตอนท้ายของมาตรา ๒๙๐ วรรคสี่ ตรงกันข้ามกลับจะแสดงว่า ในวันที่ศาลชั้นต้นสั่งให้อายัดเงินที่พิพาทก็ดี หรือวันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ส่งเงินมาให้ศาลก็ดี ผู้ร้องก็ยังหาได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของมาตรา ๒๙๐ วรรคสี่นั้นเป็นเพียงข้อยกเว้นมาใช้แก่กรณีนั้นอีกไม่ได้ และการวินิจฉัยตามนัยดังกล่าวแล้วนี้ก็หาใช่ว่าจะทำให้ข้อความในตอนท้ายของมาตรา ๒๙๐ วรรคสี่ ไร้ผลไม่มีโอกาสที่จะใช้บังคับดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ เพราะมาตรา ๒๙๐ วรรคสี่ตอนท้ายย่อมจะใช้บังคับในกรณีที่เงินหรือทรัพย์ที่อายัดไว้นั้นได้ถูกส่งมาถึงศาลช้าไปกว่า ๓ เดือน โดยเหตุจำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้น เช่นกรณีที่เงินหรือทรัพย์สินที่ถูกอายัดกว่าจะถึงกำหนดชำระก็เป็นเวลากว่า ๓ เดือนก็ดี หรือกรณีที่บุคคลภายนอกที่ได้รับคำสั่งอายัดปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตนจนศาลต้องทำการไร่สวนเป็นเวลาเนิ่นนานเกินกว่า ๓ เดือน ก็ดีเหล่านี้เป็นต้น
พิพากษายืน

Share