คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1981/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 มิได้มอบหมายหรือแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขายรถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์โดยแสดงออกชัด แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากผู้ผลิตแล้วจำเลยที่ 2 ขายรถยนต์คันดังกล่าวแก่บริษัท ต. และยังยินยอมตรวจสภาพรถยนต์คันดังกล่าวตามระยะให้แก่โจทก์ โดยที่จำเลยที่ 2 มิได้ทักท้วงหรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นว่ามิได้เป็นตัวการ ทั้งปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 1 กับบริษัท ต. มีกรรมการบริษัทเป็นชุดเดียวกันและมีจำนวน 2 คนเช่นเดียวกัน คือ ช. และ ส. จึงน่าเชื่อว่าบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัท ต. เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงแห่งคดีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาให้บริษัท ต. จัดจำหน่ายรถยนต์คันดังกล่าวแทนตนโดยไม่กำหนดว่าต้องจัดการจำหน่ายอย่างไร เป็นการเชิดบริษัท ต. เป็นตัวแทนเชิดและบริษัท ต. ได้ใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 ในการจำหน่ายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 รู้แล้วว่าบริษัท ต. โดยจำเลยที่ 1 จำหน่ายรถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันไปจดโอนชื่อทางทะเบียนในใบคู่มือจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกโอนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวข้างต้นให้เป็นชื่อของโจทก์ และส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตามฟ้องพร้อมทั้งมอบใบคู่มือจดทะเบียนให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขายรถยนต์คันพิพาทหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 มิได้มอบหมายหรือแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขายรถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์โดยแสดงออกชัด แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2539 ตามใบแจ้งการจำหน่ายเอกสารหมาย ล.3 แล้วจำเลยที่ 2 ขายรถยนต์คันดังกล่าวแก่บริษัทตากสิน อินเตอร์คาร์ จำกัด ตามใบสั่งขายและสำเนาใบส่งสินค้า เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 และยังยินยอมตรวจสภาพรถยนต์คันดังกล่าวตามระยะให้แก่โจทก์ตามที่ปรากฏรายการตรวจในสมุดรับประกันเอกสารหมาย จ.6 โดยที่จำเลยที่ 2 มิได้ทักท้วงหรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นว่ามิได้เป็นตัวการ ทั้งปรากฏด้วยว่าบริษัทสามพราน ออโตเซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จำเลยที่ 1 กับบริษัทตากสิน อินเตอร์คาร์ จำกัด มีกรรมการของบริษัทเป็นชุดเดียวกันและมีจำนวน 2 คนเช่นเดียวกัน คือ นายชวโรจน์ สุทธิชัยรัตนา นางสาวไพลิน หยึกประเสริฐ ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 และ จ.7 จึงน่าเชื่อว่า บริษัทสามพราน ออโตเซลส์ แอนส์ เซอร์วิส จำกัด จำเลยที่ 1 และบริษัทตากสิน อินเตอร์คาร์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงแห่งคดีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาให้บริษัทตากสิน อินเตอร์คาร์ จำกัด จัดจำหน่ายรถยนต์คันดังกล่าวแทนตนโดยไม่กำหนดว่าต้องจัดการจำหน่ายอย่างไร เป็นการเชิดบริษัทตากสิน อินเตอร์คาร์ จำกัด เป็นตัวแทนเชิดและบริษัทตากสิน อินเตอร์คาร์ จำกัด ได้ใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 ในการจำหน่ายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้แล้วว่าบริษัทตากสิน อินเตอร์คาร์ จำกัด โดยจำเลยที่ 1 จำหน่ายรถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต โจทก์มีใบรับมอบรถยนต์และสมุดรับประกัน เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ในครอบครอง โจทก์รับรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2539 และได้ชำระเงินจำนวน 528,000 บาท ซึ่งเป็นราคารถยนต์คันดังกล่าวรวมกับค่าประกันรถยนต์ ค่าโอนทะเบียนและค่าล้อแม็ก ตามใบรับเงินชั่วคราวเอกสารหมาย จ.4 โจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต จำเลยที่ 2 รู้แล้วยอมให้บริษัทตากสิน อินเตอร์คาร์ จำกัด ใช้ชื่อจำเลยที่ 1 จำหน่ายรถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต โดยถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในการขายรถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share