คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1973/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญา เมื่อโจทก์สืบพยานหมดแล้ว อยู่ระหว่างสืบพยานจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอพิสูจน์พยานจำเลยที่เบิกความไปแล้วโดยอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120 และ 88 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลชั้นต้นสั่งชี้ขาดในปัญหาที่โจทก์จะพิสูจน์พยานจำเลยว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ห่างไกลต่อประเด็นแห่งคดีจึงไม่อนุญาต การที่ศาลชั้นต้นสั่งเช่นนี้ ก็โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงมิใช่เป็นการพิจารณาในข้อกฎหมาย เมื่อเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ถึงหากโจทก์จะขอสืบพยานพิสูจน์พยานจำเลยได้ โจทก์ก็อุทธรณ์ฎีกา เพื่อขอสืบพยานพิสูจน์พยานจำเลยไม่ได้อยู่นั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงเสนอขายไม้ให้บริษัทโจทก์และรับเงินล่วงหน้าไปแล้ว แต่ความจริงจำเลยเป็นเพียงผู้รับจ้างตัดฟันชักลากไม้ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในไม้ ขอให้ลงโทษ
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์นำสืบไม่พอฟังว่าจำเลยใช้อุบายหลอกลวงโจทก์โดยทุจริต ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อ ๕ (๑)
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์จะขอพิสูจน์พยานจำเลยที่เบิกความไปแล้ว เป็นการไม่ชอบจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๒๐ และมาตรา ๘๘ วรรคท้าย โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ มาอนุโลมใช้ไม่ได้ และวินิจฉัยด้วยว่า ศาลชั้นต้นชี้ขาดในปัญหาที่โจทก์จะพิสูจน์พยานจำเลยไว้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ห่างไกลต่อประเด็นในคดี เพราะถึงแม้จะได้ความตามคำร้องของโจทก์ก็ไม่ทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่อนุญาต คำสั่งเช่นนี้เป็นดุลพินิจของศาลอันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ขอพิสูจน์พยานจำเลยได้ โดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๒๐ และ ๘๘ และว่าขณะศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ยังไม่มีคำพิพากษา จะเรียกว่ารับฟังข้อเท็จจริงได้อย่างไร
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์สืบพยานเพื่อพิสูจน์พยานจำเลยก็โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริง มิใช่เป็นการพิพาทในข้อกฎหมายคดีนี้เป็นคดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฉะนั้น ถึงหากโจทก์จะขอสืบพยานพิสูจน์พยานจำเลยได้ โจทก์ก็อุทธรณ์ฎีกาเพื่อขอสืบพยานพิสูจน์พยานจำเลยไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะเป็นการอุทธรณ์ฎีกาในทางข้อเท็จจริงซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่ควรอนุญาต จึงไม่มีทางที่จะให้โจทก์สืบพยานได้
ให้ยกฎีกาโจทก์

Share