คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยในคดีนี้ต่างเป็นจำเลยและโจทก์ในคดีก่อนจึงเป็นคู่ความเดียวกัน คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ให้เปิดทางภาระจำยอมและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนที่ดินและใต้พื้นดินออกไปเสียจากบริเวณภาระจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร ตามสิทธิที่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้ และปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบตามเดิม โจทก์ให้การว่าจำเลยใช้ทางภาระจำยอมเดินเข้าออกกว้างเพียง 3 เมตร ลึก 30 เมตร ตลอดมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว หากจำเลยจะมีสิทธิใช้ทางภาระจำยอมก็ไม่ควรกว้างเกิน 3 เมตร ลึก 30 เมตร สิทธิเรียกร้องภาระจำยอมในส่วนที่เกินกว่าความกว้าง 3 เมตร ลึก 30 เมตร จึงเป็นอันขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ประเด็นสำคัญแห่งคดีก่อนจึงมีว่า โจทก์ต้องเปิดทางภาระจำยอมให้มีความกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร ตามที่จดทะเบียนต่อเจ้านักงานที่ดินไว้หรือไม่ คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุที่จำเลยไม่สามารถใช้สิทธิได้เต็มตามภาระจำยอมที่ได้จดทะเบียนไว้ มิใช่เพราะจำเลยไม่ประสงค์จะใช้สิทธิเต็มตามภาระจำยอม ภาระจำยอมส่วนที่เกินความกว้าง 3 เมตร ลึก 30 เมตร จึงหาได้สิ้นไปไม่ พิพากษาให้โจทก์และบริวารเปิดทางภาระจำยอมและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนพื้นดินและใต้ดินออกไปจากบริเวณภาระจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร และปรับสภาพพื้นดินให้เรียบตามเดิม คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนและต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวอันถึงที่สุดมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นโจทก์คดีก่อนเป็นคดีนี้ โดยอ้างเหตุว่านับแต่วันที่จดทะเบียนภาระจำยอมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากภาระจำยอมเต็มตามสิทธิที่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้ โดยจำเลยคงใช้ประโยชน์จากภาระจำยอม กว้างเพียง 3 เมตร ลึก 30 เมตร เท่านั้น เป็นการอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วดังกล่าวข้างต้น และที่โจทก์อ้างเหตุอีกว่าจำเลยไม่มีความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ภาระจำยอม เนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ติดกันอยู่ก่อนและมีทางอื่นเดินเข้าออกอีก 2 ทาง นั้น ก็เป็นเหตุที่มีอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นคำให้การในคดีก่อนแล้ว ดังนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 ของโจทก์พ้นจากการตกเป็นภาระจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 13101 ของจำเลยทั้งหมดและให้จำเลยรับเงินค่าทดแทนจำนวน 100,000 บาท จากโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 13101 ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 ของโจทก์ โดยซื้อมาจากนางอมรา เหรียญสุวรรณ ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 มาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2533 ที่ดินของโจทก์นอกจากจะตกเป็นภาระจำยอมดังกล่าวแล้ว ยังมีภาระการเช่าและเช่าช่วงกับนายยันต์ชัยและบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ซึ่งสัญญาเช่ามีกำหนดเวลา 15 ปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2522 บัดนี้สัญญาเช่าได้สิ้นสุดแล้ว นับแต่จำเลยได้ภาระจำยอมเป็นต้นมา บริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในฐานะผู้เช่าช่วงได้กระทำการรอนสิทธิในที่ดินส่วนที่จดทะเบียนภาระจำยอมหลายประการ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์จากภาระจำยอมได้เต็มตามสิทธิ คงใช้เป็นทางเดินกว้างเพียง 3 เมตร ลึก 30 เมตร เท่านั้น จำเลยบอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงฟ้องขอให้โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนพื้นดินและใต้พื้นดินที่จำเลยได้ภาระจำยอมออกทั้งหมด ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้โจทก์และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนพื้นดินและใต้พื้นดินออกไปเสียจากบริเวณภาระจำยอมและให้เปิดทางภาระจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร กับปรับสภาพพื้นดินให้เรียบตามเดิม ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14258/2538 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามคำร้องของจำเลยว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนพื้นดินและใต้พื้นดินออกไปจากบริเวณภาระจำยอม เปิดทางภาระจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร และปรับสภาพพื้นดินให้เรียบตามเดิมแล้ว โจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว จะรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 4,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14258/2538 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14258/2538 ของศาลชั้นต้น เป็นเรื่องที่จำเลยคดีนี้ (โจทก์คดีก่อน) ขอใช้สิทธิตามภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 เต็มเนื้อที่ที่จดทะเบียนไว้โดยขอให้บังคับโจทก์คดีนี้ (จำเลยคดีก่อน) ให้ปฏิบัติตามภาระจำยอมส่วนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์คดีนี้ เป็นเรื่องที่ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 เป็นประโยชน์แก่ที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 13101 อยู่บ้าง และเมื่อเทียบกับภาระอันตกอยู่แก่ที่ดินภารยทรัพย์โฉนดเลขที่ 2109 แล้ว ประโยชน์นั้นน้อยนัก เพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 13101 ของจำเลยมีทางออกทางอื่นที่สะดวกอยู่แล้ว ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของทั้งสองคดีแตกต่างกัน และแต่ละคดีนั้นศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ต่างกัน เห็นว่า คดีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น คือ คดีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน โจทก์และจำเลยในคดีนี้ต่างเป็นจำเลยและโจทก์ในคดีก่อนคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14258/2538 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นคู่ความเดียวกัน คดีก่อนจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยให้เปิดทางภาระจำยอมและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนที่ดินและใต้พื้นดินออกไปเสียจากบริเวณภาระจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร ตามสิทธิที่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้ และปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบตามเดิมเนื่องจากบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในฐานะผู้เช่าที่ดินจากนายยันต์ชัยซึ่งเช่าที่ดินของโจทก์ได้กระทำการรอนสิทธิในที่ดินส่วนที่จดทะเบียนเป็นภาระจำยอมหลายประการ เช่น ปลูกสร้างกำแพงคอนกรีตและอุปกรณ์ของถังน้ำมันใต้ดิน ใช้เป็นที่จอดรถของผู้มาใช้บริการ ขุดเจาะและวางท่อสิ่งปลูกสร้าง เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์จากภาระจำยอมได้เต็มตามสิทธิ โดยคงใช้ประโยชน์จากภาระจำยอมได้เพียงกว้าง 3 เมตร ลึก 30 เมตร เท่านั้น โจทก์ให้การในคดีก่อนตอนหนึ่งว่า จำเลยใช้ทางภาระจำยอมเดินเข้าออกกว้างเพียง 3 เมตร ลึก 30 เมตร ตลอดมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว หากจำเลยจะมีสิทธิใช้ทางภาระจำยอมก็ไม่ควรกว้างเกิน 3 เมตร ลึก 30 เมตร สิทธิเรียกร้องภาระจำยอมในส่วนที่เกินกว่าความกว้าง 3 เมตร ลึก 3 เมตร จึงเป็นอันขาดอายุความ ไม่มีสิทธิเรียกร้องขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น ประเด็นสำคัญแห่งคดีก่อนจึงมีว่า โจทก์ต้องเปิดทางภาระจำยอมให้มีความกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร ตามที่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้หรือไม่ ซึ่งคดีก่อนศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุที่โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ไม่สามารถใช้สิทธิได้เต็มตามภาระจำยอมที่ได้จดทะเบียนไว้ก็เป็นเพราะผู้เช่าและผู้เช่าช่วงซึ่งเป็นบริวารของจำเลย (โจทก์คดีนี้) ได้กระทำการรอนสิทธิโจทก์ (จำเลยคดีนี้) มิใช่เป็นเพราะโจทก์ (จำเลยคดีนี้) ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิเต็มตามภาระจำยอมภาระจำยอมส่วนที่เกินความกว้าง 3 เมตร ลึก 30 เมตร จึงหาได้สิ้นไปไม่ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) และบริวารเปิดทางภาระจำยอมและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนพื้นดินและใต้ดินออกไปจากบริเวณภาระจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร และปรับสภาพพื้นดินให้เรียบตามเดิม ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2433/2540 คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนและต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวอันถึงที่สุดมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นโจทก์คดีก่อนเป็นคดีนี้ โดยอ้างเหตุว่านับแต่วันที่จดทะเบียนภาระจำยอมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากภาระจำยอมเต็มตามสิทธิที่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้ โดยจำเลยคงใช้ประโยชน์จากภาระจำยอมกว้างเพียง 3 เมตร ลึก 30 เมตร เท่านั้น เป็นการอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วดังกล่าวข้างต้น และที่โจทก์อ้างเหตุอีกว่าจำเลยไม่มีความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ภาระจำยอมเนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ติดกันอยู่ก่อนและมีทางอื่นเดินเข้าออกอีก 2 ทางนั้น ก็เป็นเหตุที่มีอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นคำให้การในคดีก่อนแล้วโจทก์อาจยกขึ้นต่อสู้กับจำเลยได้ในคดีก่อน แต่หาได้ยกขึ้นต่อสู้ไม่ ส่วนที่โจทก์ได้เสนอชดใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยมาด้วยนั้น จะเป็นประเด็นให้วินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นหลักว่า โจทก์ต้องเปิดทางภาระจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร ตามที่ได้มีการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้หรือไม่ก่อน ดังนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14258/2538 ของศาลชั้นต้น กรณีต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 148 ที่ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share