คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 194/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมว่าโจทก์จำเลยตกลงแบ่งทรัพย์พิพาทคนละครึ่ง โดยวิธีให้ศาลขายทอดตลาด. เมื่อขายได้เงินแล้วแบ่งกันคนละครึ่ง. ต่อมาในวันขายทอดตลาด จำเลยแถลงว่าราคายังต่ำอยู่ควรประกาศขายใหม่โจทก์คัดค้านว่าราคาสูงแล้ว. ศาลเรียกโจทก์จำเลยมาพร้อมกันและมีคำสั่งให้เลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่คู่ความตกลงกันดังนี้. การที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาสอบถามคู่ความเรื่องที่ว่าควรจะเลื่อนการขายทอดตลาดหรือไม่. ก็เพื่อที่จะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ.
เมื่อคู่ความได้ตกลงกันต่อหน้าศาลและข้อตกลงนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายได้ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน.กระบวนพิจารณาของศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย. การที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่เข้าใจภาษาไทยดี และไม่มีทนายความ เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งหรือร้องขอต่อศาลเพื่อจัดหาล่าม และรายงานกระบวนพิจารณาก็ไม่ปรากฏเหตุที่จะแสดงว่าโจทก์หลงผิดเพราะไม่เข้าใจภาษาไทย. โจทก์เป็นตัวความย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาเองได้โดยลำพัง เพียงแต่โจทก์ไม่มีทนายความ ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้กระบวนพิจารณาเสียไป.กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27ที่จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนได้.

ย่อยาว

คดีนี้ คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลพิพากษาตามยอม สัญญายอมความข้อ 2 มีว่า “โจทก์จำเลยตกลงแบ่งทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1(ก) (ข) คนละครึ่ง โดยวิธีให้ศาลขายทอดตลาดเฉพาะทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1(ก) ให้ขายติดจำนองไป เมื่อขายได้เงินแล้ว แบ่งกันคนละครึ่ง” ในวันขายทอดตลาดปรากฏว่า ทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1(ก)มีผู้ให้ราคาสูงสุด 185,000 บาท จำเลยแถลงว่าราคาต่ำอยู่ ควรประกาศขายใหม่ โจทก์ค้าน โจทก์จำเลยจึงตกลงกันให้เลื่อนการขาย และเรื่องการแบ่งทรัพย์ ฯลฯ และศาลสั่งให้เป็นไปตามที่ตกลงกันให้เลื่อนการขายไป ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในรายงานโดยไม่เข้าใจข้อความละเอียด ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ฯลฯ เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ขอให้เพิกถอนการพิจารณาตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2510 ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาสอบถามคู่ความเรื่องที่ว่าควรจะเลื่อนการขายทอดตลาดต่อไปอีกหรือไม่ นั้น เป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว เพราะโจทก์จำเลยต่างไม่ตกลงกันว่าจะควรเลื่อนหรือไม่และเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ดำเนินการขายทอดตลาดได้รายงานขอคำสั่งศาล การที่ศาลสอบถามคู่ความก็เพื่อที่จะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม เมื่อคู่ความได้ตกลงกัน และข้อตกลงนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายได้ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานกระบวนพิจารณาของศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2510ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ที่ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นได้ ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่เข้าใจภาษาไทยดีและไม่มีทนายความข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ในขณะศาลสอบถามโจทก์ก็มิได้โต้แย้งหรือร้องขอต่อศาลเพื่อจัดหาล่าม และข้อแถลงข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏเหตุที่จะแสดงว่าโจทก์หลงผิดเพราะไม่เข้าใจภาษาไทยโจทก์เป็นตัวความย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาเองได้โดยลำพังเพียงขณะนั้นโจทก์ไม่มีทนาย ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้กระบวนพิจารณาเสียไป จึงขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2510ไม่ได้ พิพากษายืน.

Share