คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป. กู้เงินไปจากโจทก์ เมื่อ ป. ตายโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ป. ให้ชำระหนี้เงินกู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737 โดยชั้นนี้ไม่จำต้องพิจารณาว่า จำเลยได้รับมรดกของ ป. หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีตามมาตรา 1601,1738 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นภริยาและทายาทโดยธรรมของนายประยูร เหมือนชาติ ผู้ตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายประยูรได้กู้เงินโจทก์ไป 6,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย เมื่อหนี้ถึงกำหนด นายประยูร ไม่ชำระ จึงขอให้จำเลยซึ่งเป็นภริยาและทายาทโดยธรรมของกองมรดกของนายประยูร ใช้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่มีทรัพย์มรดกของนายประยูรตกทอดแก่จำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษากลับ ให้จำเลยในฐานะทายาทของนายประยูร เหมือนชาติชดใช้เงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายประยูร เหมือนชาติผู้ตายจะต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระหนี้เงินกู้ที่นายประยูรผู้ตายกู้ยืมโจทก์ไปก่อนถึงแก่ความตายหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งโจทก์จำเลยไม่คัดค้านเป็นอย่างอื่นว่าจำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประยูรผู้ตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายประยูรผู้ตายได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป6,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยให้ความยินยอม ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเมื่อจำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประยูรผู้ตาย จำเลยจึงเป็นทายาทโดยธรรมของนายประยูรผู้ตายดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้นายประยูรผู้ตายย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยในฐานะทายาทของนายประยูรผู้ตายชำระหนี้เงินกู้ที่นายประยูรผู้ตายกู้โจทก์ไปก่อนที่จะถึงแก่ความตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737โดยในชั้นนี้ยังไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยได้รับมรดกของนายประยูรผู้ตายหรือไม่ ดังที่จำเลยต่อสู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601,1738 วรรคสอง บัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share