คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1926/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกานั้น จะนำดอกเบี้ยของต้นเงินนับแต่วันฟ้องถึงวันยื่นฎีกามารวมคำนวณด้วยไม่ได้เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของจำเลยมีจำนวนไม่เกิน200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248(วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา) จำเลยฎีกาว่า เจ้ามรดกเป็นหนี้ พ. และจำเลยได้ใช้หนี้ดังกล่าวให้แก่ พ.แล้ว เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ ซึ่งวินิจฉัยว่าจำเลยได้ชำระหนี้จำนองดังกล่าวให้แก่ พ. จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยมิได้ให้การว่า จำเลยได้กันเงินจำนวน 100,000 บาทไว้เพื่อจัดการทำบุญและจัดงานศพให้แก่เจ้ามรดกในอนาคตอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าจำเลยมีสิทธิกันเงินจำนวน 100,000บาท ไว้จัดการทำบุญและจัดงานศพให้แก่เจ้ามรดกในอนาคต จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงชอบแล้ว จำเลยฎีกาว่า ได้ให้การต่อสู้คดีและอุทธรณ์ว่าจำเลยนำมรดกไปจำนองธนาคารก่อนที่จะมีการขายที่ดินนั้น ขณะจำนองมิได้มีการชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่ธนาคาร นับแต่วันกู้ถึงวันขายที่ดินและชำระหนี้เงินกู้คิดดอกเป็นดอกเบี้ยจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยสามารถนำมาหักหนี้กองมรดกได้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ชอบจะหักเงินดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวออกจากกองมรดกด้วย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในประเด็นส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยโดยไม่ชอบนั้น ปรากฎว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีตามที่ฎีกาดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้หักเงินดอกเบี้ยดังกล่าวจึงชอบแล้ว โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยข้อความว่า “วันที่ 14 มีนาคมถึงกิมเช็ง ทราบเรื่องเงินเหลือจากจ่ายธนาคาร 1 ล้านบาทเอาทำบุญให้แม่เขา 1 แสนบาท กิมห้องให้ไป 1 แสนห้าหมื่นเฮียเอา4หมื่นเหลือนอกนั้นให้แป๊ว,ณีไปเพราะเฮียต้องเอามารักษาตัว ถ้าเฮียไม่เป็นอะไรก็จะไม่เอา เวลานี้ก็มีบ้านอยู่กันไม่เดือนร้อนอะไรแล้ว ถนอม” เอกสารนี้มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1740 วรรคสอง เป็นแต่หนังสือที่โจทก์มีถึงจำเลยขอเงินส่วนแบ่งมรดกไปรักษาตัวจำนวน 50,000 บาท อันเป็นหนังสือที่โจทก์แสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวไม่เข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาสำหรับทุนทรัพย์จำนวน250,000 บาท เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของจำเลยมีจำนวนเพียง 200,000 บาท จำเลยจึงเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเกินมา ต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมา

ย่อยาว

โจทก์เป็นบุตรและทายาทโดยธรรมของนางแอ๊ด มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 7 คน นางแอ๊ด ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแอ๊ด ต่อมาจำเลยทำนิติกรรมขายที่ดินมรดกให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 2,900,000 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องแบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกให้แก่ทายาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 580,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ทรัพย์มรดกของนางแอ๊ดตกได้แก่ทายาทจำนวนเท่า ๆ กัน คิดเป็นจำนวน 7 ส่วน ที่ดินมีสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านจำนวน 3 หลังโดยนางแอ๊ดไม่ใช่เจ้าของสิ่งปลูกสร้างจึงขายเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 200,000 บาทจำเลยได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อขึ้นในขณะที่มีชีวิตอยู่ให้แก่เจ้าหนี้ของเจ้ามรดก รวมทั้งชำระหนี้ที่จำเลยและทายาทอื่นต้องใช้จ่ายไปเกี่ยวกับการดูแลและการรักษาพยาบาลบิดาและเจ้ามรดกและเป็นหนี้บุคคลภายนอกเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 800,000 บาท กับยังได้ใช้จ่ายไปในการจัดการศพของเจ้ามรดกตามประเพณีอีกเป็นจำนวน 200,000บาท คงเหลือเงินที่เป็นมรดกทั้งสิ้น 1 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยตามส่วนแล้วทายาท 7 คน จะได้รับส่วนแบ่งเพียงคนละ 142,857.14บาท คงมีสิทธิได้รับมรดกเพียง 50,000 บาท เท่านั้นเพราะโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและตกลงสละมรดกส่วนที่ตนจะได้รับทั้งหมดโดยขอรับเพียง 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์เป็นเงิน 264,285.71 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2531 (วันฟ้อง) จนกว่าชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ2,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีคำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์ใช้ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยเท่าที่จำเลยชนะคดี ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกานั้นจะนำดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 200,000บาท นับแต่วันฟ้อง จนถึงวันยื่นฎีกามารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาด้วยไม่ได้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยจึงมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง
จำเลยฎีกาว่า เจ้ามรดกเป็นหนี้นายไพโรจน์จำนวน150,000 บาท ดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ซึ่งวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่นายไพโรจน์จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกา
ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยมีสิทธิกันเงินจำนวน 100,000 บาท ไว้จัดการทำบุญและจัดงานศพให้แก่เจ้ามรดกในอนาคตเพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์เป็นการชอบหรือไม่ ปรากฎว่าจำเลยมิได้ให้การว่า จำเลยได้กันเงินจำนวน 100,000 บาทไว้เพื่อจัดการทำบุญและจัดงานศพให้แก่เจ้ามรดกในอนาคตแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อดังกล่าวของจำเลยจึงชอบแล้ว
จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีและอุทธรณ์ว่าจำเลยนำที่ดินมรดกไปจำนองธนาคารก่อนที่จะมีการขายที่ดินนั้นขณะจำนองมิได้มีการชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่ธนาคารนับตั้งแต่วันกู้จนถึงวันขายที่ดินและชำระหนี้เงินกู้ คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยสามารถนำมาหักหนี้กองมรดกได้ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในประเด็นส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย ปรากฎว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีตามที่จำเลยฎีกาดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว
หนังสือตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกตามมาตรา 1750 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีผลผูกพันทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกเพียงจำนวน 50,000 บาท ตามสัญญานั้นหรือไม่ เมื่อคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจึงจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า โจทก์ได้มีหนังสือเอกสารหมาย ล.1 ถึงจำเลยมีข้อความว่า “วันที่ 14มีนาคม ถึง กิมเช็งทราบ เรื่องเงินเหลือจากจ่ายธนาคาร 1 ล้านบาท เอาไว้ทำบุญให้แก่เขา 1 แสนบาท ส่วนกิมห้องให้ไป1 แสนห้าหมื่นบาท ส่วนเฮียเอา 5 หมื่น เหลือนอกนั้นให้อีแป๊ว อีณีไป เพราะเฮียต้องมารักษาตัว ถ้าเฮียไม่เป็นอะไรก็จะไม่เอาหรอก เวลานี้เอ็งก็มีบ้านอยู่กันแล้ว ไม่เดือดร้อนอะไรแล้ว ถนอม” เห็นว่าเอกสารหมาย ล.1 มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง เพราะเป็นแต่เพียงหนังสือที่โจทก์มีถึงจำเลยขอเงินส่วนแบ่งมรดกไปรักษาตัวจำนวน 50,000 บาท อันเป็นหนังสือที่โจทก์แสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียว ไม่เข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ยังคงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกตามสิทธิของโจทก์
อนึ่ง ปรากฎว่าจำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาสำหรับทุนทรัพย์จำนวน 250,000 บาท เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยมีจำนวนเพียง 200,000 บาท จำเลยจึงเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเกินมา
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยเสียเกินมาแก่จำเลย

Share