คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1924/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ จำคุก กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 43 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยเบียดบังทรัพย์ รายเดียวกัน ลงโทษตามบทเดิม เท่าเดิม แต่แก้เป็น14 กระทง รวมเป็นจำคุก 46 ปี 8 เดือนดังนี้ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 คำว่า ‘อัตราโทษ’ ตามที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราต่างๆ ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 นั้นหมายถึงอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้หาได้หมายถึงอัตราโทษจำคุกอย่างสูงที่ศาลลงแก่จำเลยไม่ (วรรคสองวินิจฉัยโดยการประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2527)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการรักษาเงินของทางราชการตลอดจนเบิกจ่ายเงิน จำเลยได้เบียดบังเงินของราชการในหน้าที่ของจำเลยไปโดยทุจริตรวม 14 ครั้ง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 วางโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 13 กระทง ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 43 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยกระทำผิดรวม 14 กรรม ลงโทษและลดโทษแต่ละกรรมในอัตราเดียวกับศาลชั้นต้น รวมเป็นโทษจำคุก 46 ปี8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการพิจารณาว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ถือหลักว่าต้องแยกพิจารณาโทษแต่ละกระทงเป็นเกณฑ์ คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ โดยจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 43 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยเบียดบังทรัพย์รายเดียวกัน ลงโทษตามบทเดิมและเท่าเดิมจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน แต่แก้เป็น 14 กระทง รวมเป็นจำคุก 46 ปี 8 เดือนเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้

อนึ่ง ตามที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 ออกใหม่ระหว่างฎีกาแก้ไขมาตรา 91 เรื่องกำหนดโทษจำคุกในกรณีรวมโทษทุกกระทงเสียใหม่นั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหาเรื่องรวมโทษทุกกระทงในคดีนี้แล้ว มีมติโดยที่ประชุมใหญ่ว่า คำว่า “อัตราโทษ”ตามที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราต่าง ๆ ของมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่นั้น หมายถึงอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หาได้หมายถึงอัตราโทษจำคุกอย่างสูงที่ศาลลงแก่จำเลยไม่ โดยที่ความผิดกระทงหนักที่สุดของจำเลยคดีนี้คือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มีโทษจำคุกอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกถึงตลอดชีวิต กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 91(3)ซึ่งอาจรวมโทษจำคุกจำเลยทุกกระทงได้ถึง 50 ปี ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์รวมโทษจำคุกจำเลยทุกกระทงในคดีนี้ไว้ทั้งสิ้น 46 ปี 8 เดือน ตามมาตรา 91เดิมจึงยังไม่เกินกำหนดที่มาตรา 91(3) ที่แก้ไขใหม่ได้บัญญัติไว้

พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย

Share