คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1913/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งของคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โจทก์ที่ 1 เป็นคู่ความและโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าวจึงจำต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาด้วยเมื่อคดีส่วนอาญาถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1แต่ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายขับรถประมาท คดีนี้เป็นคดีแพ่งศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา กล่าวคือต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายขับรถประมาท
โจทก์ทั้งสามฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดฐานละเมิดมาในฟ้องเดียวกันแต่แยกทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมาเป็นจำนวนชัดเจน และโจทก์ที่ 3 เรียกร้องค่าเสียหายมาไม่เกินสองหมื่นบาทย่อมอุทธรณ์ข้อเท็จจริงไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 คงอุทธรณ์ได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
โจทก์ที่ 3 มิได้เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 ไม่มีอำนาจฟ้องในคดีดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 3 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา51 ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ ต้องใช้อายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคแรก เมื่อโจทก์ที่ 3 ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องถือว่าคดีเฉพาะของโจทก์ที่ 3 ขาดอายุความ

Share