คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์อันเป็นอุปกรณ์ของโรงแยกก๊าซจำนวน 3 กลุ่ม รวม 499 รายการตามรายการละเอียดแนบท้ายสัญญา รวมราคาทั้งสิ้น 3,788,109 บาทตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยส่งมอบผลิตภัณฑ์ไม่ครบถ้วนขาดส่งจำนวน 160 รายการ คิดเป็นเงิน 1,122,478 บาทตามสำเนาบันทึกข้อความการตรวจรับพัสดุเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์ได้จัดให้มีการประกวดราคาซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวน 160 รายการอันเป็นผลิตภัณฑ์ ชนิด คุณสมบัติลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่จำเลยมิได้ส่งมอบ และโจทก์ได้ตกลงจัดซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ชนะการประกวดราคา ตามสำเนาสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าเอกสารท้ายฟ้องรวม 119 รายการ เป็นเงิน 8,824,320 บาท และมีคำขอบังคับ เอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องซึ่งปรากฏรายละเอียดแห่งสินค้ามาด้วย จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมไม่จำต้องบรรยายว่าสินค้าที่โจทก์ซื้อมาใหม่เป็นสินค้าอะไรบ้าง และเป็นสินค้าชนิดและประเภทเดียวกับที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ เหตุสุดวิสัยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 หมายถึง เหตุใด ๆอันจะเกิดขึ้นหรือจะให้ผลพิบัติไม่มีใครอาจป้องกันได้ แต่การ ทำสัญญาขายสินค้าที่มีการแจ้งความประกวดราคา เป็นหน้าที่ ของผู้เสนอราคาโดยตรงที่จะต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตน โดยจะต้องพิจารณาด้วยตนเองว่าสินค้าตามใบแจ้งความประกวดราคา นั้นตนเองสามารถจะจัดหามาและสู้ราคาได้หรือไม่ เมื่อจำเลย ผู้เสนอราคาได้พิจารณารายละเอียดของสินค้าตามที่โจทก์แจ้งความประกวดราคามานั้นว่าสามารถที่จะจัดหามาได้ และเมื่อโจทก์สนองรับซื้อแล้วซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์และจำเลยจะทำ สัญญากัน จำเลยก็ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ครั้งแรกจำนวน 322 รายการ แล้วต่อมาจำเลยยังลงลายมือชื่อในสัญญาตาม สัญญาซื้อขาย ซึ่งมีรายละเอียดของสินค้าระบุไว้ชัดเจนและ เป็นเวลาภายหลังจำเลยส่งสินค้าครั้งแรกถึง 4 เดือนเศษจึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะอ้างว่าไม่สามารถส่งสินค้าด้วยเหตุสุดวิสัยหรือสำคัญผิดในคุณสมบัติของสินค้า แม้โจทก์จะทำสัญญากับจำเลยล่าช้า แต่เมื่อจำเลยยอมลงลายมือชื่อในสัญญาอันเป็นการรับรองว่าสัญญาถูกต้อง จำเลยย่อมไม่อาจยกข้อบกพร่องของสัญญาขึ้นมาอ้างต่อไปอีกได้ และแม้โจทก์จะยอม รับสินค้าที่จำเลยส่งมา 2 ครั้งบางรายการ โดยส่งมาก่อน และหลังทำสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์แสดงเจตนาว่าสินค้าที่ จำเลยยังไม่ส่งมาเกิดจากข้อบกพร่องของสัญญา ทั้งไม่ปรากฏว่า โจทก์ยอมรับว่าสินค้าที่จำเลยยังมิได้ส่งมาเกิดจากเหตุ สุดวิสัย ดังนี้ สัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย ตามหนังสือขอให้ยกเลิกสัญญาบางส่วนและขอให้ชำระหนี้ที่จำเลยมีถึงโจทก์ มีใจความว่า ขอให้โจทก์ยกเลิกสัญญาบางรายการที่ไม่อาจจัดส่งให้ได้อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยแต่เมื่อตามสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน ไม่ปรากฏข้อความให้จำเลยมีสิทธิยกเลิกสัญญาด้วยเหตุเช่นนั้น เมื่อสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยและโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังนี้ จำเลยจะบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่จำเลยยกขึ้นมาเองโดยโจทก์ไม่ยินยอมด้วยหาได้ไม่ เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจึงจะนับเวลาที่โจทก์ต้องจัดซื้อสินค้าที่จำเลยขาดส่งภายใน 6 เดือนตามสัญญา นับแต่จำเลยบอกเลิกสัญญาหาได้ไม่ และเมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้ว โจทก์ก็ได้ดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อสินค้าที่จำเลยผิดนัดไม่ได้ส่งซึ่งไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาข้อดังกล่าว ที่ตกลงกันว่าหากจำเลยส่งสินค้าไม่ครบทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์มีสิทธิริบหลักประกันกับเรียกค่าเสียหายในส่วนที่จัดซื้อสินค้าจากบุคคลอื่นเป็นราคาเพิ่มขึ้น โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดกรณีจำเลยผิดสัญญาซื้อขายไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา มิได้ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดกรณีส่งมอบสินค้าให้โจทก์ชำรุดบกพร่อง ดังนี้ จะนำอายุความ 1 ปี กรณีข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474มาใช้บังคับหาได้ไม่ และกรณีเรียกร้องให้จำเลยรับผิดไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาเท่าใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (193/30 ใหม่) ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาภายหลังที่จำเลยบอกเลิกสัญญานานถึง 5 เดือน เป็นการประมาทเลินเล่อไม่ใช้สิทธิภายในเวลาอันสมควรย่อมหมดสิทธิที่จะร้องเรียกเอาแก่จำเลยนั้นเมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และไม่มีประเด็นนำสืบ ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสองศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เลือกใช้สิทธิริบหลักประกันตามสัญญาข้อ 8 แล้ว ย่อมไม่มีสิทธิที่จะปรับจำเลยในอัตราร้อยละ 0.2 ตามสัญญาข้อ 9 อีกนั้น เมื่อปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้กล่าวอ้างไว้ในคำให้การและมิได้ประเด็นพิพาทจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2530 จำเลยทำสัญญาขายผลิตภัณฑ์ (อะไหล่) สำหรับอุปกรณ์ของโรงแยกก๊าซ ชุดที่ 4จำนวน 3 กลุ่ม รวม 499 รายการ รวมราคาทั้งสิ้น 3,788,109 บาทแก่โจทก์ โดยจำเลยสัญญาว่าจะส่งมอบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดแก่โจทก์ณ คลังพัสดุ โรงแยกก๊าซ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2529ให้ถูกต้องและครบถ้วนตามสัญญา ถ้าจำเลยไม่ส่งมอบหรือส่งมอบผลิตภัณฑ์ไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน หรือส่งมอบผลิตภัณฑ์ไม่ครบจำนวน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และจำเลยยอมให้โจทก์ริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนได้แล้ว แต่โจทก์จะเห็นสมควรและถ้าโจทก์จัดซื้อผลิตภัณฑ์จากบุคคลอื่นเต็มจำนวนหรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่งภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาจำเลยยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาในกรณีที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจำเลยยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาผลิตภัณฑ์ที่ครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันที่จำเลยได้นำผลิตภัณฑ์มาส่งมอบให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ตรวจรับและรับมอบผลิตภัณฑ์ถูกต้องครบถ้วน ในระหว่างที่มีการปรับ ถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้โจทก์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันกับเรียกร้องให้ใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 8 และค่าเสียหายใด ๆ ที่โจทก์ได้รับจากการผิดสัญญาของจำเลยนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ สัญญาซื้อขายให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2529ต่อมาจำเลยส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้แก่โจทก์ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 และวันที่ 28 กันยายน 2530 โจทก์ได้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยส่งมอบปรากฏว่าจำเลยส่งมอบให้โจทก์เพียงจำนวน 339 รายการ คิดเป็นเงินรวม 2,665,631 บาท และขาดส่งจำนวน 160 รายการ คิดเป็นเงิน 1,112,478 บาท รายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่จำเลยส่งมอบของไม่ถูกต้องครบถ้วน ปรากฏตามสำเนาบันทึกข้อความตรวจรับพัสดุเอกสารท้ายฟ้อง ต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2531 โดยใช้สิทธิริบหลักประกันในอัตราร้อยละ 10 ของราคาผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ส่งมอบตามสัญญาข้อ 8 เป็นเงิน 112,247.80 บาท และใช้สิทธิปรับในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ส่งมอบ และที่ส่งมอบล่าช้าตามสัญญาข้อ 9 เป็นเงิน 939,751.39 บาท และใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ผลิตภัณฑ์จำนวน 339 รายการ ที่จำเลยส่งมอบให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,665,631 บาท ซึ่งจำเลยมีสิทธิรับเงินค่าผลิตภัณฑ์จากโจทก์ แต่โจทก์มีสิทธิได้ค่าปรับจำนวน1,051,999.19 บาท หักกลบลบหนี้แล้วคงเหลือเงินค่าผลิตภัณฑ์ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากโจทก์เป็นเงิน 1,613,631.80 บาท และโจทก์สงวนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ รวมทั้งกรณีโจทก์ต้องซื้อผลิตภัณฑ์จากบุคคลอื่นในราคาที่สูงขึ้นจากสัญญาจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2531 ต่อมาโจทก์ซื้อผลิตภัณฑ์ชนิด คุณสมบัติลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่จำเลยมิได้ส่งมอบตามสัญญาซื้อขายจำนวน 160 รายการ โดยวิธีประกวดราคาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2531จากห้างหุ้นส่วนจำกัดซุปเปอร์คอน (ฟาร์อีส) จำนวน 6 รายการในราคา 175,980 บาท โดยทำสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม2531 จากบริษัทจาร์ดีน แมธทีสัน (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน70 รายการ ในราคา 6,375,000 บาท โดยทำสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่9 พฤศจิกายน 2531 และจากบริษัทปัญญศิริ จำกัด จำนวน 43 รายการในราคา 2,273,340 บาท โดยทำสัญญาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2531ปรากฏตามสำเนาสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าเอกสารท้ายฟ้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 119 รายการ เป็นเงิน 8,824,320 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่ได้ทำสัญญากับจำเลยเป็นเงิน 7,701,842 บาท อันจำเลยจะต้องรับผิดชอบในเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มจำนวนนี้แต่โจทก์ขอเรียกร้องเพียง 7,701,840 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2531แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2531อันเป็นวันที่จำเลยผิดนัดจนถึงวันฟ้อง เป็นเงินค่าดอกเบี้ย731,674.80 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,433,514.80 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 8,433,514.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 7,701,840 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาซื้อขายโดยมิได้แจ้งสงวนสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในขณะส่งมอบผลิตภัณฑ์และโจทก์ไม่ได้จัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยังขาดอยู่จำนวน 160 รายการ ภายใน6 เดือน นับจากวันบอกเลิกสัญญาการจัดซื้อจากบุคคลภายนอกของโจทก์ยังไม่เป็นผลสำเร็จ ความเสียหายของโจทก์จึงยังไม่เกิดและเป็นความเสียหายที่ยังไม่แน่นอน ผลิตภัณฑ์ที่โจทก์จัดซื้อจากบริษัทจาร์ดีน แมธทีสัน (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 70 รายการไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิด แบบ รุ่นเดียวกันกับที่เคยจัดซื้อจากจำเลย ผลิตภัณฑ์ 160 รายการ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยผิดสัญญานั้นในการทำสัญญาเฉพาะในส่วนนี้เกิดจากการผิดหลงของคู่สัญญาและเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จะซื้อขายกันได้ สัญญาฉบับลงวันที่17 กรกฎาคม 2530 เป็นสัญญาพ้นวิสัยที่คู่สัญญาจะปฏิบัติกันได้โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยส่งมอบสินค้าให้โจทก์ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2530 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยทำสัญญาซื้อขายโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของสินค้าตามสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม จำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วเป็นผลให้สัญญาบางส่วนตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ไม่มีสิทธิริบเงินประกันและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเพราะผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ซื้อใหม่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา สัญญาที่โจทก์และบุคคลภายนอกทำกันมีเจตนาให้จำเลยเสียหายซึ่งพิจารณาได้จากราคาผลิตภัณฑ์ที่โจทก์จำเลยซื้อขายกันจำนวน 499 รายการ รวมราคา3,788,109 บาท แต่การทำสัญญาของโจทก์กับบุคคลภายนอกมีการจัดซื้อผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับที่ซื้อจากจำเลยเพียง 119 รายการ แต่ราคารวมเป็นเงินถึง 8,824,320 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าสินค้าที่โจทก์ซื้อจากผู้อื่นเป็นสินค้าอะไรและเป็นชนิดเดียวกับที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 8,433,514.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,701,840 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้เถียงรับฟังได้ว่า เมื่อปลายปี 2529 โจทก์แจ้งความประกวดราคาซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวน499 รายการ เพื่อใช้สำหรับโรงแยกก๊าซที่ตำบลมาบตาพุดอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มเอ กลุ่มบี และกลุ่มซี จำเลยเสนอราคาทั้ง 3 กลุ่ม ในราคารวม 4,083,080 บาท และเป็นผู้ชนะการประกวดราคา แต่โจทก์ขอลดราคาลง จำเลยตกลงลดราคาลงมาเหลือ 3,788,109 บาท โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 1 ธันวาคม 2529 สนองรับซื้อในราคาดังกล่าวโดยกำหนดให้จำเลยส่งมอบสินค้าภายใน 90 วัน หลังจากนั้นจำเลยส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 จำนวน 322 รายการ ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2530 จำนวน 17 รายการรวมจำนวน 339 รายการ เป็นเงิน 2,665,631 บาทขาดส่งจำนวน 160 รายการ คิดเป็นเงิน 1,122,478 บาท วันที่ 17 กรกฎาคม 2530 โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายสินค้าดังกล่าวตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.7 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.10)โดยข้อ 3 ของสัญญากำหนดให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ธันวาคม2529 ซึ่งเป็นวันกำหนดให้ส่งสินค้า สัญญาข้อ 8 ตกลงว่าหากจำเลยส่งสินค้าไม่ครบทั้งหมดหรือบางส่วนโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิริบหลักประกันกับเรียกค่าเสียหายในส่วนที่จัดซื้อสินค้าจากบุคคลอื่นเป็นราคาเพิ่มขึ้น และสัญญาข้อ 9 ตกลงว่ากรณีจำเลยไม่ส่งมอบสินค้าและโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาในช่วงดังกล่าวโจทก์มีสิทธิปรับจำเลยร้อยละ 0.2 ของค่าสินค้าที่จำเลยยังไม่ได้ส่งมอบ นับแต่วันครบกำหนดส่งมอบตามสัญญาจนถึงวันที่ส่งมอบและหากโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบสินค้าก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ วันที่ 10 กันยายน 2530 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าขอยกเลิกรายการสินค้าบางรายการ เนื่องจากเหตุสุดวิสัย วันที่ 13 พฤศจิกายน 2530 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ขอให้ยกเลิกสัญญาบางรายการที่เป็นเหตุสุดวิสัยวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลย ขอให้จำเลยจัดส่งข้อมูลรายการสินค้าที่อ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพิ่มเติมและโจทก์ได้ทำการหารือข้ออ้างเหตุสุดวิสัยของจำเลย วันที่ 25 ธันวาคม 2530 จำเลยจัดส่งข้อมูลรายละเอียดของสินค้าเพิ่มเติมวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ขอทราบผลเกี่ยวกับสินค้าที่ขาดส่งอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย วันที่ 21 เมษายน 2531 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยบอกเลิกสัญญา และใช้สิทธิริบหลักประกันเป็นเงิน112,247.80 บาท กับเรียกค่าปรับในกรณีส่งมอบสินค้าล่าช้าเป็นเงินจำนวน 939,751.39 บาท และใช้สิทธิหักกลบลบหนี้กับราคาของผลิตภัณฑ์ที่จำเลยส่งไปแล้วตามสำเนาหนังสือเรื่องขอบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.9 จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2531 วันที่ 3 พฤษภาคม 2531จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์อ้างเหตุขัดข้องที่ไม่ได้ส่งมอบสินค้าจำนวน 160 รายการ ด้วยเหตุสุดวิสัย วันที่ 20 มิถุนายน 2531โจทก์มีหนังสือยืนยันการเรียกร้องค่าเสียหาย ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.11 วันที่ 14 กันยายน 2531 โจทก์แจ้งความประกวดราคาจัดซื้อสินค้าที่จำเลยขาดส่งจำนวน 160 รายการ ตามสำเนาใบแจ้งความการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.12 ปรากฏว่ามีผู้ประมูลได้ 3 รายการ คือห้างหุ้นส่วนจำกัดซุปเปอร์คอน(ฟาร์อีส) จำนวน 6 รายการ เป็นเงิน 175,980 บาทบริษัทจาร์ดีน แมธทีสัน (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 70 รายการเป็นเงิน 6,375,000 บาท และบริษัทปัญญศิริ จำกัด จำนวน43 รายการ เป็นเงิน 2,273,340 บาท รวม 119 รายการ เป็นเงิน8,824,320 บาท สูงกว่าราคาที่ทำไว้กับจำเลยเป็นเงิน 7,701,840บาท ผู้ประมูลได้ทั้ง 3 ราย ได้ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนทุกประการ และได้รับเงินจากโจทก์แล้ว ส่วนของที่จำเลยขาดส่งจำนวน 41 รายการ ไม่มีผู้ประมูล
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าสินค้าที่โจทก์ซื้อมาใหม่เป็นสินค้าอะไรบ้าง และเป็นสินค้าชนิดและประเภทเดียวกับที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์อันเป็นอุปกรณ์ของโรงแยกก๊าซจำนวน 3 กลุ่ม รวม 499 รายการ ตามรายการละเอียดแนบท้ายสัญญา รวมราคาทั้งสิ้น3,788,109 บาท ปรากฏตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยส่งมอบผลิตภัณฑ์ไม่ครบถ้วนขาดส่งจำนวน 160 รายการ คิดเป็นเงิน1,122,478 บาท ปรากฏตามสำเนาบันทึกข้อความการตรวจรับพัสดุเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์ได้จัดให้มีการประกวดราคาซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวน 160 รายการ อันเป็นผลิตภัณฑ์ ชนิดคุณสมบัติ ลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่จำเลยมิได้ส่งมอบ และโจทก์ได้ตกลงจัดซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ชนะการประกวดราคา ตามสำเนาสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าเอกสารท้ายฟ้องรวม 119 รายการ เป็นเงิน 8,824,320 บาท และมีคำขอบังคับ เอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องซึ่งปรากฏรายละเอียดแห่งสินค้าตามที่จำเลยฎีกามาด้วย จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสองมีว่าสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยหรือไม่เห็นว่า เหตุสุดวิสัยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 หมายถึงเหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นหรือจะให้ผลพิบัติไม่มีใครอาจป้องกันได้ แต่การทำสัญญาขายสินค้าที่มีการแจ้งความประกวดราคา เป็นหน้าที่ของผู้เสนอราคาโดยตรงที่จะต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตน โดยจะต้องพิจารณาด้วยตนเองว่าสินค้าตามใบแจ้งความประกวดราคานั้นตนเองสามารถจะจัดหามาและสู้ราคาได้หรือไม่ สำหรับใบแจ้งความประกวดราคานั้น เห็นว่า จำเลยได้พิจารณารายละเอียดของสินค้าตามที่โจทก์แจ้งความประกวดราคามานั้นว่าสามารถที่จะจัดหามาได้และเมื่อโจทก์สนองรับซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2529 แล้ว ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์และจำเลยจะทำสัญญากัน จำเลยก็ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ครั้งแรกจำนวน 322 รายการแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีโอกาสพิจารณาทบทวนรายละเอียดของสินค้าแต่ละรายการว่าสามารถจัดหาซื้อได้หรือไม่ จึงได้ทยอยส่งสินค้ามาครั้งแรกเป็นจำนวนถึง 322 รายการ ไว้ก่อน หากพิจารณาทบทวนแล้วจำเลยเห็นว่าสินค้ารายการใดเป็นการพ้นวิสัยที่จะจัดส่งได้ก็น่าจะแจ้งให้โจทก์ทราบและงดการส่งสินค้าไว้ก่อน แต่นอกจากจำเลยได้ส่งสินค้าดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยยังลงลายมือชื่อในสัญญาตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.7 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.10) ซึ่งมีรายละเอียดของสินค้าระบุไว้ชัดเจนและเป็นเวลาภายหลังจำเลยส่งสินค้าครั้งแรกถึง 4 เดือนเศษ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะอ้างว่าไม่สามารถส่งสินค้าด้วยเหตุสุดวิสัยหรือสำคัญผิดในคุณสมบัติของสินค้าแม้โจทก์จะทำสัญญากับจำเลยล่าช้า แต่จำเลยก็ยอมลงลายมือชื่อในสัญญาอันเป็นการรับรองว่าสัญญาถูกต้อง จำเลยย่อมไม่อาจยกข้อบกพร่องของสัญญาขึ้นมาอ้างต่อไปอีกได้ แม้โจทก์จะยอมรับสินค้าที่จำเลยส่งมา 2 ครั้งบางรายการ โดยส่งมาก่อนและหลังทำสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์แสดงเจตนาว่าสินค้าที่จำเลยยังไม่ส่งมาเกิดจากข้อบกพร่องของสัญญา สำหรับบันทึกของเจ้าหน้าที่โจทก์ท้ายหนังสือของจำเลยเรื่องขอชี้แจงข้อเท็จจริงการจัดซื้ออะไหล่และขอความเป็นธรรมเอกสารหมาย ล.11 นั้น นางสาวอัจฉราพหูวณิช กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า บันทึกของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นรายงานข้อเสนอของเจ้าหน้าที่โจทก์ที่เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มิได้แจ้งไปยังจำเลยทั้งข้อความตามบันทึกดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมรับว่าสินค้าที่จำเลยยังมิได้ส่งมาเกิดจากเหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสามมีว่า จำเลยต้องรับผิดในราคาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาหรือไม่เพียงใดเห็นว่า ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.12 มีใจความในเรื่องนี้ว่าขอให้โจทก์ยกเลิกสัญญาบางรายการที่ไม่อาจจัดส่งให้ได้อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย แต่ตามสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.10) ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน ไม่ปรากฏข้อความให้จำเลยมีสิทธิยกเลิกสัญญาด้วยเหตุเช่นนั้น เมื่อสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย และโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาประการใด จำเลยจะบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่จำเลยยกขึ้นมาเองโดยโจทก์ไม่ยินยอมด้วยหาได้ไม่ เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจึงจะนับเวลาที่โจทก์ต้องจัดซื้อสินค้าที่จำเลยขาดส่งภายใน 6 เดือน นับแต่จำเลยบอกเลิกสัญญาได้ไม่ ครั้นเมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกแก่จำเลยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2531ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 แล้ว โจทก์ก็ได้ดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อสินค้าที่จำเลยผิดนัดไม่ได้ส่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2531 ซึ่งไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 8
ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาภายหลังที่จำเลยบอกเลิกสัญญานานถึง 5 เดือน เป็นการประมาทเลินเล่อไม่ใช้สิทธิภายในเวลาอันสมควร ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่จำเลยนั้น จำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และไม่มีประเด็นนำสืบ ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
และที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่าสินค้าที่โจทก์จัดซื้อใหม่กับบุคคลภายนอกตามสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.14ถึง จ.16 รวมทั้งสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.17 และจ.18 เป็นสินค้าคนละชนิดกับสินค้าที่โจทก์ทำสัญญากับจำเลย ตามสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์เอกสารหมาย จ.7 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.10)ซึ่งจำเลยจัดทำเอกสารแสดงข้อแตกต่างไว้ชัดเจน และราคาที่โจทก์จัดซื้อใหม่ก็แพงกว่าที่ทำสัญญากับจำเลยเกือบสิบเท่าตัวนั้นเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าของจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าที่โจทก์จัดซื้อใหม่กับบุคคลภายนอกตามสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.16 รวมทั้งสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.17 และ จ.18 เป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าที่โจทก์ทำสัญญากับจำเลยตามสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์เอกสารหมาย จ.7 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.10) ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่าราคาสินค้าที่โจทก์จัดซื้อใหม่จากบุคคลภายนอกแพงกว่าราคาสินค้าที่โจทก์จัดซื้อจากจำเลยถึงเกือบสิบเท่าตัว หากจะถือว่าเป็นค่าปรับแล้วต้องถือว่าเป็นค่าปรับที่สูงเกินส่วนนั้น เห็นว่าสัญญาข้อ 8 ที่ว่า ถ้าโจทก์จัดซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้อื่นเต็มจำนวนหรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่งแล้วแต่กรณี จำเลยยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นคือจำเลยให้เบี้ยปรับในฐานผิดสัญญาซื้อขายนั่นเอง ซึ่งหากเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก และเห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่า เหตุใดราคาของสินค้าที่ซื้อจากบุคคลภายนอกจึงสูงกว่ามากมายเช่นนั้น เพียงแต่จ่าสิบเอกอนุสรณ์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า ราคาอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการเพิ่มภาษีและค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้น โดยไม่มีพยานหลักฐานใด ๆสนับสนุน เหตุผลเพียงเท่านี้ไม่น่าจะเป็นเหตุให้สินค้าชนิดเดียวกันมีราคาสูงกว่ากันมากมายถึงเพียงนั้น โจทก์น่าจะซื้อสินค้าดังกล่าวได้ในราคาที่ลดลงกว่านี้ประกอบกับเมื่อคำนึงถึงหลักประกันและค่าปรับที่โจทก์ใช้สิทธิริบและปรับจำเลยตามสัญญาแล้ว เห็นสมควรลดเบี้ยปรับกรณีโจทก์ซื้อผลิตภัณฑ์ในราคาที่เพิ่มขึ้นลงมาเหลือจำนวน 2,000,000 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสี่มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดกรณีจำเลยผิดสัญญาซื้อขายไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา มิได้ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดกรณีส่งมอบสินค้าให้โจทก์ชำรุดบกพร่อง จะนำอายุความ 1 ปี กรณีข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 มาใช้บังคับหาได้ไม่ สำหรับกรณีเรียกร้องให้จำเลยรับผิดไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาเท่าใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (193/30 ใหม่) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์เลือกใช้สิทธิริบประกันตามสัญญาข้อ 8 เป็นเงินจำนวน 112,247.80 บาท แล้ว ย่อมไม่มีสิทธิที่จะปรับจำเลยในอัตราร้อยละ 0.2 เป็นเงินจำนวน 939,751.39 บาทตามสัญญาข้อ 9 อีกนั้น ปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้กล่าวอ้างไว้ในคำให้การและมิได้เป็นประเด็นพิพาทจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2531ซึ่งเป็นวันที่จำเลยผิดนัดจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

Share