คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1906/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์พิพาทของลูกหนี้ติดจำนองอยู่แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 ซื้อทรัพย์พิพาทจากลูกหนี้โดยกู้เงินจากผู้คัดค้านที่ 3 เท่ากับยอดเงินต้นที่ลูกหนี้ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านที่ 3 นำไปชำระราคาทรัพย์พิพาทส่วนหนึ่ง แล้วลูกหนี้ได้นำเงินไปไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จากนั้นผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองทรัพย์พิพาทเป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ในวันเดียวกัน มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนตัวผู้จำนองจากลูกหนี้มาเป็นผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งแม้จะไม่เปลี่ยนตัวผู้จำนอง สิทธิจำนองก็ย่อมติดไปกับตัวทรัพย์พิพาทอยู่แล้ว ทั้งจำนวนเงินจำนองที่เปลี่ยนไปก็ลดลงจากเดิมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเพิ่มขึ้นแก่ผู้คัดค้านที่ 3 หรือทำให้เจ้าหนี้ของลูกหนี้เสียหายแต่อย่างใด ฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 3 รับจำนองโดยสุจริต แม้ศาลจะเพิกถอนการโอนระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่กระทบถึงสิทธิของผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 116
การเพิกถอนการโอนเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ก็ยังคงถือว่าเป็นการโอนโดยชอบอยู่ จึงถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)ประกอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153

Share