คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 189/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย กรณีจะเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามไม่ได้ครอบครอง ทรัพย์มรดกแต่จำเลยเป็นผู้ครอบครองซึ่งเป็นการครอบครองไว้เพื่อ ตนเอง มิได้ครอบครองไว้แทนโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทด้วย โจทก์ทั้งสามฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่พิพาทเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ จ้ามรดกตาย คดีของโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายมากและนางหยวก คเชนทร ซึ่งถึงแก่ความตายแล้วที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมาก นางหยวก ตกทอดแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยคนละส่วน โจทก์ทั้งสามขอรับส่วนแบ่งมรดก แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งให้ ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามตามส่วน หากแบ่งไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 29,600 บาท ถ้าจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามแต่งงานแยกครอบครัวออกไปอยู่ต่างหากโดยบิดามารดาได้ยกที่ดินและทรัพย์สินให้แก่โจทก์ทุกคนไปแล้ว ต่อมาจำเลยแต่งงานบิดามารดาได้ยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลย ที่ดินและบ้านพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นบุตรนายมากและนางหยวก โจทก์ทั้งสามแต่งงานแยกไปอยู่ต่างหาก ส่วนจำเลยอยู่กับนายมากและนางหยวกจนนายมากและนางหยวกถึงแก่ความตายเมื่อเดือนเมษายน 2525 มีทรัพย์มรดก คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1106 และที่ดินโฉนดเลขที่ 1290 พร้อมบ้านเลขที่ 8 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อนายมากและนางหยวกตายแล้ว จำเลยยังคงทำกินและอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวตลอดมา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2525 โจทก์ทั้งสามและจำเลยไปยื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1106 แต่จำเลยไม่ยอมส่งโฉนดที่ดินเพื่อจดทะเบียนโอนมรดกโดยอ้างเหตุว่าเดิมโจทก์ทั้งสามตกลงว่ารับมรดกแล้วจะยกให้จำเลยทั้งหมด แต่ต่อมาโจทก์ทั้งสามไม่ยอมยกให้ และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2526 โจทก์ที่ 1ได้ร้องเรียนต่อนายอำเภอสองพี่น้องว่าจำเลยไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกจำเลยโต้แย้งว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับมรดก โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2530
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า เมื่อเจ้ามรดกตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์ดังกล่าวย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน โจทก์ทั้งสามมิได้สละมรดก เมื่อจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกถือว่าครอบครองแทนทายาททุกคน เห็นว่า การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกจะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วยหรือไม่ ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดีว่าพฤติการณ์ใดบ้างที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นหรือครอบครองเพื่อตนเอง เพราะไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าใครครอบครองทรัพย์มรดกแล้วถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่นดังที่โจทก์ทั้งสามฎีกา ส่วนข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกแทนนั้น โจทก์ทั้งสามเบิกความลอย ๆ ไม่น่าเชื่อถือ แต่กลับปรากฏจากข้อนำสืบของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวโดยมิได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสาม เมื่อจำเลยจะไปขอรับมรดก พนักงานเจ้าหน้าที่บอกให้ทายาทอื่นสละมรดก จำเลยจึงให้โจทก์ทั้งสามไปยื่นขอรับมรดกด้วย และเมื่อได้รับแล้วโจทก์ทั้งสามจะโอนให้จำเลยแต่หลังจากยื่นเรื่องราวแล้วโจทก์ทั้งสามจะเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง จำเลยจึงไม่ยอมส่งโฉนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อจดทะเบียนรับมรดกจนพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องยกคำขอ เมื่อโจทก์ที่ 1 ให้นายอำเภอเปรียบเทียบจำเลยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิรับมรดก การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ทั้งสาม แต่เป็นการครอบครองเพื่อจำเลยเองเมื่อเป็นเช่นนี้การที่เจ้ามรดกตายตั้งแต่ปี 2525 โจทก์ทั้งสามฟ้องเมื่อวันที่ 5 มกราคม2530 เกิน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ฎีกาข้ออื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share