คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 189/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลแขวงสั่งคำร้องที่โจทก์ขออนุญาตอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า “อนุญาตสำเนาให้จำเลย” นั้น เป็นคำสั่งอนุญาตลอย ๆ โดยมิได้ชี้แจงแสดงเหตุผลให้ปรากฏในคำสั่งว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์แต่ประการใดเลย จึงถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษานั้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ และ ๘๓
ศาลแขวงไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลแขวงพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาสั่งในคำร้องว่า “อนุญาต สำเนาให้จำเลย” และมีคำสั่งในอุทธรณ์ให้รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้น เป็นปัญหาสำคัญการสู่ศาลอุทธรณ์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาต และรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาตรา ๒๒ ทวิ ซึ่งบัญญัติเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ พิพากษายกอุทธรณ์
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ ทวิ บัญญัติว่า “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวงพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ ฯลฯ ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นพิจารณาต่อไปการอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะต้องพิเคราะห์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นจะต้องชี้แจงแสดงเหตุผลให้ปรากฏว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ด้วยจะสั่งอนุญาตลอย ๆ หาได้ไม่ ตามคำสั่งของผู้พิพากษาซึ่งพิจาณาและลงชื่อในคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นที่สั่งว่า “อนุญาตสำเนาให้จำเลย” นั้นเป็นคำสั่งอนุญาตลอย ๆ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษามิได้ชี้แจงแสดงเหตุให้ปรากฏในคำสั่งว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์แต่ประการใดเลยจึงถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษานั้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ ทวิ ดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share