คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตัวการมอบอำนาจให้ตัวแทนทำการแทนในกิจการต่างๆ รวมทั้งให้ฟ้องคดีได้ และให้ตั้งตัวแทนช่วงได้ ตัวแทนตั้งตัวแทนช่วงต่อไปให้มีอำนาจกระทำเหมือนอย่างที่ตัวแทนได้รับมอบอำนาจมา แม้จะไม่ระบุว่าให้ฟ้องคดีได้ตัวแทนช่วงก็ฟ้องคดีแทนตัวการได้
อัตราแลกเปลี่ยนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 หมายถึงอัตราแลกเปลี่ยนเสรี ซึ่งอาจไม่ตรงกับอัตราของรัฐบาลก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ใน พ.ศ. 2492 จำเลยได้ว่าจ้างให้โจทก์ขนยาง 4 ราย ไปยังสหรัฐอเมริกา ตามสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อยางในสหรัฐอเมริกานั้นจำเลยจะขอรับเงินซึ่งผู้ซื้อได้เปิดเครดิตให้ไว้ในธนาคารกรุงเทพฯ ได้ต่อเมื่อนำตั๋วบรรทุกสินค้า (Bill of Lading) ไปแสดงต่อธนาคารว่า ได้บรรทุกสินค้าลงเรือครบถ้วนมีคุณภาพถูกต้องตามสัญญาซื้อขายแล้ว ซึ่งตั๋วบรรทุกลักษณะนี้ฝ่ายโจทก์จะออกให้ต่อเมื่อจำเลยได้บรรทุกสินค้าครบถ้วนมีคุณภาพถูกต้องตามสัญญาซื้อขายแล้ว และเจ้าหน้าที่ประจำเรือออกใบรับสินค้า (Mate’sreceipts) ยืนยันมา แต่เพื่ออำนวยความสะดวกให้จำเลยได้รับเงินก่อนปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น โจทก์ได้ออกตั๋วบรรทุกสินค้ารับรองความครบถ้วนมีคุณภาพถูกต้องของสินค้าบรรทุกให้แก่จำเลยไปก่อนที่จำเลยจะได้นำเอาใบรับรองเจ้าหน้าที่ประจำเรือมาแสดง การออกตั๋วบรรทุกสินค้าเช่นนี้เป็นการกระทำที่ฝ่ายโจทก์รับรองต่อผู้ซื้อว่า จำเลยได้บรรทุกสินค้าตามจำนวนและคุณภาพถูกต้องตามสัญญาซื้อขายลงเรือฝ่ายโจทก์แล้วจริง ซึ่งยังผลให้ฝ่ายโจทก์ต้องรับผิดต่อผู้ซื้อนั้นด้วย การที่โจทก์ออกตั๋วบรรทุกให้จำเลยดังกล่าวแล้ว ก็โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาในนามของจำเลยที่ 1 รับรองให้โจทก์ไว้ว่า ถ้าหากโจทก์ต้องชดใช้เงินแก่ผู้ซื้อไปเท่าใดเพราะการออกตั๋วบรรทุกของโจทก์ดังกล่าวแล้ว จำเลยจะชดใช้คืนให้ทั้งสิ้น ดังปรากฏตามสำเนาเอกสารหมาย 2 และ 3 ท้ายฟ้อง ต่อมาโจทก์ถูกเรียกร้องว่า สินค้ายางตามตั๋วบรรทุกสินค้าที่โจทก์บรรทุกโดยเรือ “ไชได๊” (Schiedyk) นั้นเปียกน้ำก่อนบรรทุก เสียหายเป็นเงิน 3,277 เหรียญ 21 เซ็นต์อเมริกัน และสินค้ายางที่โจทก์บรรทุกโดยเรือ “เดร๊นท์” (Drente) ส่งขาดไป 1 มัด ราคา 32 เหรียญ 99 เซ็นต์อเมริกัน ซึ่งโจทก์ได้โอนบัญชีหักชำระไปแล้ว นอกจากนี้ในการที่จำเลยได้ว่าจ้างให้โจทก์ขนส่งยางไปยังกรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาโดยเรือ “สโลเตอร์ดิ๊ก” (Sloterdyk) นั้น จำเลยได้ขอให้เปลี่ยนเป็นส่งไปยังกรุงบอสตันแทน ซึ่งจำเลยทำสัญญารับรองจะชดใช้ค่าเสียหายให้ตามสำเนาเอกสารหมาย 4 ท้ายฟ้อง ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ถูกเรียกร้องให้ชำระเป็นจำนวน 714 เหรียญ 38 เซ็นต์อเมริกัน และโจทก์ได้ชำระไปแล้ว รวมเงินที่โจทก์ต้องชำระไปทั้งสิ้น 4,024 เหรียญ 58 เซ็นต์อเมริกัน คิดเป็นเงินไทยตามราคาตลาดในวันฟ้องอัตราเหรียญละ 22 บาท 20 สตางค์ เป็นเงิน89,345 บาท 68 สตางค์โจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การตัดฟ้องว่า นายเออนส์ดิคเคนแมนผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ เพราะตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 ไม่ได้ให้อำนาจฟ้องคดีไว้ จำเลยคงรับว่าได้ลงนามในเอกสารตามสำเนาท้ายฟ้องจริงและยอมรับผิดใช้ยางที่ขาดไป 1 มัดเป็นเงิน 32 เหรียญ 99 เซ็นต์เท่านั้น ส่วนยางที่เปียกน้ำ ถ้าเกิดเปียกน้ำขึ้นจริง ก็เกิดขึ้นภายหลังบรรทุกลงเรือซึ่งอยู่ในครอบครองของโจทก์หรือผู้แทน จำเลยไม่ต้องรับผิด จำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องหากจำเลยจะต้องรับผิดก็ไม่ถึงจำนวนนั้น และอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญอเมริการัฐบาลกำหนดไว้เหรียญละ 12 บาท 50 สตางค์เท่านั้น

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธความผิด เพราะเป็นแต่ตัวแทนของจำเลยที่ 1

ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิด แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน81,757 บาท 50 สตางค์ กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 2,000 บาทแทนโจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 เสียค่าทนายชั้นศาลอุทธรณ์ 2,000 บาทแทนโจทก์ ค่าทนายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ข้อที่จำเลยฎีกาว่านายดิคเคนแมนไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้น ได้ความว่าบริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ในประเทศสวิส ชั้นเดิมบริษัทได้ทำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2491 ให้นาย เอ.เอฟ. ซอมม์เป็นผู้ทำการแทนบริษัทในกิจการต่าง ๆ รวมทั้งให้มีอำนาจฟ้องคดีได้ด้วย นอกจากนี้ยังให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจหรือตัวแทนช่วง เพื่อกระทำการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วนั้นแทนบริษัทได้ด้วย(เอกสารหมาย จ.2) ต่อมา นาย เอ.เอฟ. ซอมม์ ได้ทำหนังสือตั้งตัวแทนช่วงมอบอำนาจให้แก่นายดิคเคนแมนเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทและให้มีอำนาจกระทำการทุกอย่างแทนบริษัทเหมือนอย่างที่นาย เอ.เอฟ. ซอมม์ ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทนั้น (เอกสารหมาย จ.1)นายดิคเคนแมนจึงอาศัยใบมอบอำนาจหรือหนังสือตั้งตัวแทนช่วงฉบับหลังนี้มาฟ้องจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าจริงอยู่ในหนังสือตั้งตัวแทนช่วงหรือมอบอำนาจฉบับหลังนี้แม้จะมิได้มีข้อความว่า ให้มีอำนาจฟ้องคดีอยู่ด้วยก็ตาม แต่หนังสือฉบับหลังนี้ก็ได้มีข้อความกล่าวท้าวถึงใบมอบอำนาจฉบับแรกอยู่ โดยให้นายดิคเคนแมนมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเหมือนอย่างที่นาย เอ.เอฟ. ซอมม์ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทตามหนังสือมอบอำนาจฉบับแรกซึ่งรวมทั้งการฟ้องคดีด้วยนั้น ฉะนั้นเมื่ออ่านหนังสือมอบอำนาจทั้ง 2 ฉบับรวมกันก็จะเห็นได้ว่านายดิคเคนแมนได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนบริษัทแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงตกไป

สำหรับในข้อความรับผิดของจำเลยในเรื่องยางเปียกน้ำนั้น ได้ความตามคำพยานโจทก์ว่า ก่อนที่จะขนยางสู่เรือใหญ่ของโจทก์ที่สงขลานั้น เรือบรรทุกยางของจำเลยล่มลง และมีเรืออื่นสองลำมาช่วยขนถ่ายยางขึ้นเรือ 2 ลำนั้น แล้วเรือสองลำนั้นจึงเข้าเทียบเรือโจทก์และขนยางขึ้น ตามใบรับสินค้า (Mate’s Receipts) ของเจ้าหน้าที่เรือของโจทก์ที่ออกให้แก่จำเลยก็ปรากฏว่ายางที่ขนขึ้นเรือใหญ่นั้นอยู่ในสภาพที่เปียกเพราะจมน้ำเค็ม ในข้อนี้ถ้าไม่เป็นความจริงจำเลยก็ชอบที่จะทักท้วง เมื่อจำเลยมิได้ทักท้วงและจำเลยไม่สามารถนำพยานมาสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น จะฟังว่าการที่ยางเปียกน้ำเป็นความผิดของโจทก์อย่างไรได้ ส่วนเรื่องเปลี่ยนเส้นทางขนยางนั้นจำเลยต่อสู้แต่เพียงว่าค่าขนส่งที่โจทก์เรียกสูงผิดธรรมดาเท่านั้นและจำเลยมิได้นำสืบอย่างไรในประเด็นข้อนี้ ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้ ศาลฎีกาไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

ฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายอ้างว่า การแลกเปลี่ยนเงินต้องถือตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้ คือ 1 ดอลล่าร์อเมริกาต่อ 12 บาท 50 สตางค์นั้น ข้อนี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นแบบอย่างแล้วว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 นั้น หมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรี (คำพิพากษาฎีกาที่ 1693/2493 คดีระหว่าง บริษัทพัธนา จำกัด โจทก์ นายอับดุลไตเย็บอิสไมล์ยีมัสกาตี จำเลย) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

อาศัยเหตุดังกล่าวมาแล้ว ศาลนี้คงพิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1เสียค่าทนายในชั้นนี้ 2,500 บาทแทนโจทก์

Share