คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์มีข้อความว่าโจทก์ขอมอบอำนาจให้ม.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดราชบุรีเป็นคดีแพ่งเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหายกับทั้งมีอำนาจลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีในศาลแทนโจทก์ได้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดเจนให้ม. มีอำนาจฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหายต่อศาลจังหวัดราชบุรีแทนโจทก์ได้จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจเฉพาะการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา60เพื่อให้ม. ฟ้องคดีเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหายต่อศาลจังหวัดราชบุรีแทนโจทก์ไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องโดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใดดังนั้นแม้หนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้ม. ฟ้องจำเลยที่1และที่3หรือผู้ใดแต่เมื่อมีข้อความระบุไว้แล้วว่าโจทก์มอบอำนาจให้ม. ฟ้องคดีแพ่งและเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหายต่อศาลจังหวัดราชบุรีแทนโจทก์ได้ม. จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางมาลี บุญธวัชชัยดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-3161สมุทรสงคราม จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียนบ-4526 ราชบุรี จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-3161 สมุทรสงคราม ด้วยความยินยอมของจำเลยที่ 1โดยมีโจทก์กับพวกอีกประมาณ 7 คน นั่งโดยสารไปด้วย จำเลยที่ 2ขับรถยนต์คันดังกล่าวแข่งกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-4526ราชบุรี ซึ่งมีจำเลยที่ 4 บุตรจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับด้วยความยินยอมของจำเลยที่ 3 ไปตามถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าไปจังหวัดเพชรบุรีด้วยความเร็วสูง ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เมื่อไปถึงบริเวณหลักกิโลเมตร 113 ตำบลอ่างทอง อำเภอเมืองราชบุรีจังหวัดราชบุรี จำเลยที่ 4 เร่งความเร็วของรถยนต์เพิ่มขึ้นเพื่อแซงรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับ แต่แซงไม่พ้น รถยนต์คันที่จำเลยที่ 4 ขับเสียหลักเซเข้าปะทะชนกับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันตกจากไหล่ถนนด้านซ้ายมือปะทะกับต้นไม้ข้างทางอย่างรุนแรงทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส กระดูกไขสันหลังหักเป็นอัมพาตตลอดชีวิต ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายและไม่สามารถประกอบกิจการงานได้ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก โจทก์ขอคิดค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 200,000 บาท และค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ต้องกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิตเป็นเงิน 300,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 4 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มีศักดิ์เป็นป้าของจำเลยที่ 2 มารดาจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยที่ 2 อยู่ในอำนาจปกครองของบิดา จำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 2นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-3161 สมุทรสงคราม ของจำเลยที่ 1ไปใช้โจทก์ ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางมาลีบุญธวัชชัย ฟ้องจำเลยที่ 3 หนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป มิได้เจาะจงให้ฟ้องจำเลยใด ไม่อาจนำมาใช้ฟ้องร้องได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสอง วินิจฉัยว่า การมอบอำนาจของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเป็นกรณีที่โจทก์ตั้งนางมาลี บุญธวัชชัยเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปในการฟ้องคดีมิใช่เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจเฉพาะการเพื่อฟ้องคดีนี้ ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปจะทำการใด ๆในทางจัดการแทนตัวการก็ได้ แต่ไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 วรรคสอง (5) การมอบอำนาจของโจทก์ให้นางมาลีฟ้องคดีนี้จึงมิชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เพราะโจทก์มอบอำนาจให้นางมาลี บุญธวัชชัยเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปในการฟ้องคดีแพ่งโดยมิได้ระบุเจาะจงว่าให้ฟ้องผู้ใดเป็นจำเลย ไม่อาจนำหนังสือมอบอำนาจนั้นไปใช้ฟ้องคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 วรรคสอง(5)นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 บัญญัติว่า”ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป ท่านว่าจะทำกิจใด ๆ ในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่ คือ (5) ยื่นฟ้องต่อศาล”ดังนี้จะเห็นได้ว่า หากตัวการได้มอบอำนาจให้ตัวแทนทำกิจใด ๆโดยไม่ได้ระบุว่าให้มีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาลได้แล้ว ตัวแทนย่อมจะไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเกี่ยวกับกิจการนั้นได้ แต่หนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 มีข้อความว่า โจทก์ขอมอบอำนาจให้นางมาลี บุญธวัชชัย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดราชบุรีเป็นคดีแพ่งเรื่อง ละเมิด เรียกค่าเสียหาย กับทั้งมีอำนาจลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีในศาลแทนโจทก์ได้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดเจนให้นางมาลีมีอำนาจฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายต่อศาลจังหวัดราชบุรีแทนโจทก์ได้หนังสือมอบอำนาจนั้นจึงเป็นหนังสือมอบอำนาจเฉพาะการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 เพื่อให้นางมาลีฟ้องคดีเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายต่อศาลจังหวัดราชบุรีแทนโจทก์ ซึ่งหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนั้นไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องโดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด ดังนั้นแม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไม่มีข้อความระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้นางมาลีฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 หรือผู้ใดแต่เมื่อมีข้อความระบุไว้แล้วว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางมาลีฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายต่อศาลจังหวัดราชบุรีแทนโจทก์ได้ นางมาลีจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share