คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างมูลเหตุว่า จำเลยที่ 2 มีสามีเป็นคนต่างด้าวรับซื้อที่ดินของโจทก์ไปเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ดิน ขอให้ศาลพิพากษาว่าหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นโมฆะนั้นมีผลเป็นการฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งที่ดินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า หนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นโมฆะซึ่งมีผลเป็นการเรียกที่ดินคืน และโจทก์ก็เสียค่าขึ้นศาลมาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท ทั้งตามฎีกาของโจทก์ยังขอให้พิพากษาให้โจทก์ได้กลับคืนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามเดิมด้วย กรณีจึงเป็นการเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้
การฟ้องเรียกที่ดินคืนฐานลาภมิควรได้เนื่องแต่โมฆะกรรม โจทก์จะต้องฟ้องเรียกร้องเสียภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงสิทธิเรียกคืน หรือภายในสิบปีนับแต่วันทำนิติกรรมอันเป็นโมฆะซึ่งสิทธิเรียกคืนได้มีขึ้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปขายที่ดินและจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมีสามีเป็นคนต่างด้าว ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จะฟ้องแย้งขอให้ศาลสั่งแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น เป็นของจำเลยที่ 1 มาแต่เดิมหาได้ไม่เพราะมิได้เป็นการฟ้องแย้งโจทก์ แต่เป็นการฟ้องแย้งจำเลยด้วยกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าที่ดินโฉนดที่ 3120 และ 3150 เป็นของโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จัดการขายแทน โดยลงชื่อในแบบพิมพ์ใบมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีสามีเป็นคนต่างด้าว ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นโมฆะ แล้วจำเลยที่ 2 ได้ขายฝากให้ตนเองในนามอื่นแล้วไม่ไถ่คืน ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้จัดการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อย แล้วโอนขายไป 6 แปลง ซึ่งผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ขอให้ศาลพิพากษาว่าหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินและขายฝากเป็นโมฆะ และสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยที่ 2 แบ่งแยกโอนขายไป

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินโฉนดที่ 3120 เป็นของจำเลยที่ 1ได้ขายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาคนต่างด้าวเป็นโมฆะ ขอให้ศาลแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนการโอนขายที่ดินที่จำเลยที่ 2 แบ่งแยกด้วย

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยมีสัญชาติไทย ได้ที่ดินมาโดยชอบคดีโจทก์ขาดอายุความ

หลังจากชี้สองสถานแล้ว จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อจำเลยที่ 1ในโฉนดที่ 3120

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ด้วยว่า จำเลยมีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทโฉนดที่ 3120 คืนจากจำเลยที่ 2 ดังข้อต่อสู้ของจำเลย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างมูลเหตุว่าจำเลยที่ 2 มีสามีเป็นคนต่างด้าวรับซื้อที่ดินของโจทก์ไปเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. 2486 และประมวลกฎหมายที่ดินขอให้ศาลพิพากษาว่าหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3150 และโฉนดที่ 3120 ตามสัญญาลงวันที่ 3 มกราคม 2494เอกสารหมาย จ.30 และ จ.32 เป็นโมฆะ นั้นมีผลเป็นการฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย และโจทก์ก็เสียค่าขึ้นศาลมาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท ตามฎีกาของโจทก์ยังขอให้พิพากษาให้โจทก์ได้กลับคืนเป็นเจ้าของที่พิพาทตามเดิมด้วย กรณีจึงเป็นการเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้นั้นเองซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องเรียกร้องเสียภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ถึงสิทธิเรียกคืน หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆะซึ่งสิทธิเรียกคืนได้มีขึ้น แต่โจทก์พึ่งมาฟ้องเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2508 เป็นเวลาถึง 14 ปี มาแล้วนับแต่วันทำนิติกรรมซื้อขายที่พิพาท โจทก์มิได้ฟ้องคดีเสียภายในกำหนดเวลา 10 ปีตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 419 ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องแล้ว

ที่โจทก์ฎีกาว่า อายุความต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงเจตนาทุจริตของจำเลยทั้งสอง คือ นับแต่วันที่โจทก์ไปขออายัดที่ดินทั้งสองแปลงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2508 ตามเอกสาร จ.9 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล จะนำมาบังคับในเรื่องนี้ไม่ได้

เมื่อฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วดังนี้ ปัญหาที่ว่าสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะหรือไม่ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะแม้จะฟังได้ตามที่โจทก์อ้าง คดีของโจทก์ก็ขาดอายุความอยู่นั่นเอง ฎีกาของโจทก์ข้ออื่นเป็นอันตกไปด้วย

ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้รับและวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1ด้วยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฟ้องแย้งนั้นเป็นการตั้งข้อพิพาทกับจำเลยที่ 2 ว่า การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโฉนดที่ 3120 ของจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ ขอให้ศาลสั่งแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 3120 เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาแต่เดิมฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 เพราะมิได้เป็นการฟ้องแย้งโจทก์ หากแต่เป็นการฟ้องแย้งจำเลยด้วยกัน และคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หาว่าเอาที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 คงเป็นคู่พิพาทกับโจทก์เท่านั้น หามีประเด็นที่จะโต้แย้งกับจำเลยที่ 2 ไม่ ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยนั้นจึงชอบด้วยรูปคดีแล้ว

พิพากษายืน

Share