คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1877/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ป. ผู้ตายขณะเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์และจำเลยร่วมซึ่งเป็นรองผู้จัดการโจทก์ในฐานะตัวแทนโจทก์ ได้นำสมุดคู่ฝากเงินธนาคารของโจทก์ไปเบิกและรับเงินของกองทุนไฟป่าจากธนาคาร แล้วไม่นำเงินเข้าบัญชีรายรับของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการฟ้องเรียกเงินที่ผู้ตายในฐานะตัวแทนรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 แม้เงินดังกล่าวจะมิใช่เงินของโจทก์ แต่เมื่อผู้ตายต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ เพราะเป็นเงินที่ผู้ตายรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของผู้ตายให้รับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยในฐานะทายาทของ ป. รับผิดกรณีที่ผู้ตายซึ่งเป็นตัวแทนต้องรับผิดต่อโจทก์ มิใช่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ป. ในกรณีละเมิด และกรณีตัวการฟ้องเรียกเงินที่ตัวแทนรับไว้เกี่ยวกับการเป็นตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) นับแต่วันที่ ป. ผู้ตายรับเงินจากกองทุนไฟป่าไว้แทนโจทก์ไป เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายประชากับจำเลยที่ 7 ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน 905,510 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2532 ถึงวันฟ้องจำนวน 243,355 บาท ให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากนายประชาถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายประชา จึงต้องรับผิดต่อโจทก์แทนนายประชา ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้เงินจำนวน1,148,865 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน905,510 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ก่อนจำเลยทั้งเจ็ดยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวถอนฟ้องจำเลยที่ 7 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การว่า การกระทำของนายประชากับจำเลยที่ 7 เป็นการกระทำภายในขอบเขตอำนาจและในนามโจทก์และนายประชาได้แจ้งให้สำนักงานป่าไม้เขตอุดรธานีทราบกับได้รายงานต่อที่ประชุมกรรมการบริษัทโจทก์ให้รับทราบตลอดมาโจทก์ก็มิได้ทักท้วง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์ไม่ได้รับอนุมัติให้นำเงินดังกล่าวไปฝากธนาคารเพื่อหาประโยชน์ โจทก์มิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายเข็มทอง วัฒนกูล เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายประชา บุณยเนตร ร่วมกันชำระเงินจำนวน 905,510 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องในส่วนจำเลยร่วม
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ได้รับสัมปทานจากทางราชการให้ทำไม้ในท้องที่จังหวัดเลยระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม 2515 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2536 ทั้งนี้โจทก์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของทางราชการในการจัดซื้ออุปกรณ์การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันไฟป่าให้แก่สำนักงานป่าไม้เขตอุดรธานีโดยใช้เงินจากกองทุนไฟป่า ของป่าโครงการหมวด ลย.4 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2532 สำนักงานป่าไม้เขตอุดรธานีมีหนังสือแจ้งต่อโจทก์ว่ากรมป่าไม้ได้อนุมัติให้โจทก์เบิกจ่ายเงินจากกองทุนไฟป่าจำนวน 1,150,920 บาท ตามที่โจทก์เสนอขอให้กรมป่าไม้อนุมัติเบิกจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้และค่าใช้จ่ายของโจทก์เกี่ยวกับการป้องกันไฟป่า ของป่าโครงการหมวด ลย.4 ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2532 นายประชา บุณยเนตร และนายเข็มทอง วัฒนกูลจำเลยร่วมซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและรองผู้จัดการบริษัทโจทก์ในขณะนั้นร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ในใบถอนเงินเบิกเงินจำนวนดังกล่าวจากสมุดคู่ฝากเงินธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเลย ชื่อบัญชีเงินกองทุนดูแลรักษาป่านายประชาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2535 จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 เป็นบุตร ส่วนจำเลยที่ 6 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประชาผู้ตาย โจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2536
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาว่าเงินกองทุนไฟป่าจำนวนดังกล่าวไม่ใช่เงินที่เป็นรายได้ของโจทก์แต่เป็นของทางราชการ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2522 นายประชา บุณยเนตร ผู้ตาย ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์และจำเลยร่วมซึ่งเป็นรองผู้จัดการโจทก์ในฐานะตัวแทนโจทก์ได้นำสมุดคู่ฝากเงินธนาคารไปเบิกและรับเงินของกองทุนไฟป่าของป่าโครงการหมวด ลย.4 จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเลยจำนวน 1,150,920 บาท แล้วไม่นำเงินเข้าบัญชีรายรับของโจทก์โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในฐานะทายาทผู้ตายร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการฟ้องเรียกเงินที่ผู้ตายในฐานะตัวแทนรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 810 แม้เงินดังกล่าวจะมิใช่เงินของโจทก์ ผู้ตายก็ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว เพราะเป็นเงินที่ผู้ตายรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ประการที่สองมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายมิได้ส่งเงินจำนวน 905,510 บาท แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในฐานะทายาทของผู้ตายจึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวนนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาประการสุดท้ายว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ เพราะกรณีที่นายประชา บุณยเนตร รับเงินแล้วไม่นำส่งเข้าบัญชีของโจทก์เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายประชาผู้ตายส่งมอบเงินจากกองทุนไฟป่าที่ผู้ตายเบิกและรับไว้แทนให้แก่โจทก์ เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในฐานะทายาทรับผิดกรณีที่ผู้ตายซึ่งเป็นตัวแทนต้องรับผิดต่อโจทก์ มิใช่กรณีละเมิดดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาและกรณีตัวการฟ้องเรียกเงินที่ตัวแทนรับไว้เกี่ยวกับการเป็นตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) ผู้ตายรับเงินจากกองทุนไฟป่าไว้แทนโจทก์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2532 นับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคือวันที่ 29 กรกฎาคม 2536 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share