คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านเป็นประธานกรรมการและผู้จัดการมูลนิธิ เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการย้ายทรัพย์สินและที่ทำการของมูลนิธิคณะกรรมการมูลนิธิจำนวน 4 คน ได้มีหนังสือขอให้ผู้คัดค้านเรียกประชุมวิสามัญ แต่ผู้คัดค้านไม่ยอมเรียกประชุมและเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิมีหนังสือถึงนายทะเบียนมูลนิธิขอให้แจ้งผู้คัดค้านเรียกประชุมผู้คัดค้านก็ตอบ ปฏิเสธ เมื่อกรรมการและเหรัญญิกของมูลนิธิถึงแก่กรรม ผู้คัดค้านก็ไม่เรียกประชุมกรรมการเพื่อแต่งตั้งเหรัญญิกคนใหม่ ทำให้การเบิกจ่ายเงินของมูลนิธิไม่สามารถทำได้ และเมื่อถึงคราวที่จะต้องเรียกประชุมสามัญประจำปีผู้คัดค้านก็ไม่เรียกประชุมตามตราสารของมูลนิธิ ทำให้เกิดข้อขัดข้องในการบริหารงานของมูลนิธิ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการปฏิเสธการเรียกประชุมโดยไม่มีเหตุสมควรเป็นการจัดการผิดพลาด และเป็นการฝ่าฝืนข้อความแห่งตราสารก่อตั้งมูลนิธิ ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ถอด ถอนผู้คัดค้านออกจากตำแหน่งได้ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 91.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า สมาคมจีนโผวเล้งแห่งประเทศไทยได้ประชุมเพื่อจัดตั้งมูลนิธิสุขาวดีและได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2510 ปัจจุบันมีนายสุพัฒน์พัฒนวงศื เป็นประธานกรรมการและผู้จัดการของมูลนิธิสุขาวดี ต่อมาคณะกรรมการของมูลนิธิมีความเห็นให้ย้ายที่ทำการและทรัพย์สินของมูลนิธิไปยังสำนักแห่งใหม่และดำเนินการย้ายทรัพย์สินไปแล้วแต่นายสุพัฒน์ แจ้งความกล่าวหาว่าลักทรัพย์ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับกรรมการคนอื่น คณะกรรมการมูลนิธิจึงมีหนังสือถึงนายสุพัฒน์ให้เปิดประชุมวิสามัญเพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าวและมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะนายทะเบียนมูลนิธิขอให้มีหนังสือถึงนายสุพัฒน์ให้เปิดประชุมวิสามัญ แต่นายสุพัฒน์ไม่ยอมเปิดประชุม ต่อมากรรมการเหรัญญิกของมูลนิธิ ได้ถึงแก่กรรม นายสุพัฒน์ก็ไม่เรียกประชุมวิสามัญเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นกรรมการแทน ทำให้การเบิกจ่ายเงินของมูลนิธิชะงักนอกจากนี้นายสุพัฒน์ยังไม่ดำเนินการเรียกประชุมสามัญประจำปีภายในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณากิจการมูลนิธิตามตราสาร ทำให้การดำเนินงานของมูลนิธีหยุดชะงัก เกิดความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งถอดถอนนายสุพัฒน์ พัฒนวงศ์ ออกจากตำแหน่งประธานและผู้จัดการมูลนิธิสุขาวดี และแต่งตั้งนายเติมศักดิ์ ตั้งเจตนาพร รองประธานมูลนิธิสุขาวดี เป็นประธานมูลนิธิสุขาวดีแทน
นายสุพัฒน์ พัฒนวงศ์ ยื่นคำคัดค้านว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม เพราะคำร้องที่ขอให้พนักงานอัยการดำเนินคดีนี้เป็นเท็จและผู้ร้องมิได้แนบมาท้ายคำร้องผู้ร้องซึ่งเป็นพนักงานอัยการไม่มีอำนาจที่จะร้องขอให้ถอนผู้คัดค้านจากตำแหน่งประธานและผู้จัดการมูลนิธิสุขาวดีและขอให้ตั้งผู้หนึ่งผู้ใดเป็นประธานมูลนิธิแทน การจะย้ายที่ตั้งจะต้องจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องจึงจะทำการย้ายได้ นายเติมศักดิ์ไม่มีอำนาจขนย้ายทรัพย์สินของมูลนิธิสุขาวดีออกจากที่ทำการของมูลนิธิและกรรมการของมูลนิธิสุขาวดีไม่เคยมีมติให้ขนย้ายทรัพย์สินของมูลนิธิไปที่อื่นเหตุที่ผู้คัดค้านไม่เรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากไม่มีกิจการใดที่จะต้องประชุมผู้คัดค้านได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ผู้ขอเปิดประชุมและกรุงเทพมหานครทราบแล้ว เหตุที่ไม่เรียกประชุมกรรมการมูลนิธิประจำปี และเมื่อกรรมการเหรัญญิกของมูลนิธิถึงแก่กรรมนั้น เนื่องจากผู้คัดค้านไม่มีเอกสารที่จะดำเนินการเรียกประชุม ผู้คัดค้านมิได้จัดการมูลนิธิผิดพลาดเสื่อมเสีย ผู้ที่ทำให้มูลนิธิสุขาวดีเสียหายไม่ใช่ผู้คัดค้านกรณียังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถอนผู้คัดค้านออกจากตำแหน่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอดถอนนายสุพัฒน์ พัฒนวงศ์ ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและผู้จัดการมูลนิธิสุขาวดี คงให้ทำหน้าที่กรรมการของมูลนิธิตำแหน่งเดียวให้คณะกรรมการมูลนิธิสุขาวดีเลือกประธานซึ่งจะทำหน้าที่ผู้จัดการกันเองภายในกำหนด 60 วันทั้งนี้ตามนัยแห่งตราสารมูลนิธิสุขาวดี ข้อ 7 ในระหว่างที่ยังไม่มีการตั้งประธานหรือผู้จัดการมูลนิธิให้ผู้มีอำนาจหน้าที่แทนประธานตามตราสารข้อ 9 เป็นผู้จัดการมูลนิธิไปพลางก่อนและดำเนินการเลือกประธานกรรมการตามคำสั่งศาลชั้นต้น คำขอของผู้ร้องนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปตามที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ มีศักดิ์ศรีเป็นที่เคารพนับถือในวงการพ่อค้าชาวจีน ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิสุขาวดีมานานปี สร้างความเจริญให้มูลนิธิมาโดยตลอด ไม่มีเหตุที่จะถอดถอนผู้คัดค้านออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและผู้จัดการมูลนิธิสุขาวดีได้ ศาลฎีกาเห็นว่าในข้อนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าผู้คัดค้านเป็นประธานกรรมการและผู้จัดการมูลนิธิสุขาวดี เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการย้ายทรัพย์สินและที่ทำการหรือสำนักงานของมูลนิธีเกิดขึ้น คณะกรรมการมูลนิธิจำนวน 4 คน ได้มีหนังสือขอให้ผู้คัดค้านเรียกประชุมวิสามัญ แต่ผู้คัดค้านไม่ยอมเรียกประชุมอ้างว่าไม่มีเหตุที่จะประชุมและเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะนายทะเบียนมูลนิธิขอให้แจ้งผู้คัดค้านให้เรียกประชุมแก้ปัญหาผู้คัดค้านก็ตอบปฏิเสธอ้างว่าเอกสารที่จะต้องใช้ในการประชุมถูกขนย้ายไปไว้ที่อื่น ซึ่งข้ออ้างของผู้คัดค้านดังกล่าวหามีน้ำหนักควรรับฟังไม่ เพราะแม้เอกสารจะถูกขนย้ายไปที่อื่น ผู้คัดค้านในฐานะประธานกรรมการก็มีอำนาจสั่งให้นายรังสรรค์ ชินเศรษฐกิจ ผู้เป็นกรรมการเลขาธิการเรียกประชุมและจัดเตรียมเอกสารมาได้ และหากเอกสารถูกส่งไปเก็บไว้ ณ อาคารแห่งใหม่ การประชุมอาจจะจัดขึ้นณ อาคารแห่งใหม่นั้นก็ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้คัดค้านก็เคยใช้เป็นที่ประชุมมาแล้ว ดังปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมายร.14, ร.15 นอกจากนี้ยังปรากฏว่า เมื่อนายดำริเกียรติเชิดแสงสุข กรรมการและเหรัญญิกของมูลนิธิสุขาวดีถึงแก่กรรมผู้คัดค้านก็ไม่เรียกประชุมกรรมการเพื่อเลือกบุคคลมาแต่งตั้งเป็นเหรัญญิกคนใหม่ทำให้การเบิกจ่ายเงินของมูลนิธิไม่สามารถทำได้เพราะในการเบิกจ่ายเงินผู้คัดค้านจะต้องลงลายมือชื่อร่วมกับเหรัญญิกตามตราสารมูลนิธิข้อ 16 และปรากฏด้วยว่า เมื่อถึงคราวที่จะต้องเรียกประชุมสามัญประจำปี ผู้คัดค้านก็ไม่เรียกประชุมตามตราสารของมูลนิธิทำให้เกิดข้อขัดข้องในการบริหารงานของมูลนิธิพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิสุขาวดีและเป็นผู้จัดการมูลนิธิตามตราสารมูลนิธิข้อ 9ปฏิเสธการเรียกประชุมโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการจัดการผิดพลาดและเป็นการทำการฝ่าฝืนข้อความแห่งตราสารก่อตั้งมูลนิธิสุขาวดีข้อ 11, 12 พนักงานอัยการ ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ถอดถอนผู้คัดค้านออกจากตำแหน่งได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตร 91…”
พิพากษายืน.

Share