แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงได้ความจากการนำสืบของโจทก์ว่า รถยนต์โจทก์ถูกรถยนต์จำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2518 ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2518 นาย น.ข้าราชการในสังกัดกรมโจทก์ และได้รับมอบหมายจากกรมโจทก์ให้เดินทางไปสังเกตการณ์และสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุรถยนต์คันของโจทก์ถูกชน นาย น.ได้ทำบันทึกรายงานแจ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังปรากฏตามรายงานข้อ 7 ในบันทึกเอกสารหมายจ.5 ว่า “กระผมได้ไปพบเจ้าของรถบรรทุก ร. น. 00562 และตัวแทนบริษัทธนกิจประกันภัย จำกัด (นายธัญญะ เอื้ออารี) เพื่อเรียกร้องการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งทางบริษัทประกันภัยได้ตกลงเป็นหลักการไว้ว่ายินดีจะชดใช้ ค่าเสียหายโดยจะซ่อมแซม รถยนต์แลนด์โรเวอร์ ก.ท.ฬ.- 1021 ให้อยู่ในสภาพเดิม ” นายภักดี ลุศนันท์ อธิบดีกรมโจทก์ในขณะนั้นได้มีบันทึกสั่งการไว้ในท้ายบันทึกรายงานดังกล่าว ลงวันที่ 2 กันยายน 2518 ว่า 1. การตกลงกับบริษัทประกันภัยและเจ้าของรถบรรทุกต้องมีลายลักษณ์อักษร 2. ทำรายงานไปกระทรวงการคลัง 3. ตั้งกรรมการสอบ ผู้รับผิดชอบทางแพ่งตามระเบียบซึ่งต่อมานาง ฉ.ประธานกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งตามที่กรมโจทก์ตั้ง ขึ้นก็ได้ทำรายงานความเห็นต่ออธิบดีกรมโจทก์ ดังปรากฏตามบันทึกข้อความเอกสารหมายจ.6หน้าที่ 3 ความว่าเห็นว่ารถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ร.น.00562 เป็นฝ่ายผิดซึ่งเจ้าของรถยนต์ดังกล่าวจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมโจทก์แต่เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2518 และรู้ตัวผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2518 ฉะนั้นการที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียนร.น.00562 นั้น ขาดอายุความ แล้ว
จากข้อเท็จจริงตามที่ได้ความดังกล่าวเห็นว่า กรมโจทก์โดยอธิบดีในขณะนั้นได้รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัว ผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้แก่จำเลยแล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2518ตามที่อธิบดีกรมโจทก์ในขณะนั้นได้ เขียนบันทึกสั่งการไว้ท้ายบันทึกรายงานตามเอกสารหมายจ.5 ซึ่งแม้แต่นางฉ.ประธานกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่โจทก์แต่งตั้งขึ้นก็ยังให้ความเห็นว่าคดีขาดอายุความแล้ว ดังนี้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2522 ซึ่งเป็นเวลาพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวจำเลยผู้ต้องรับผิดดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 6/2527)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ ๒ ไปในทางการที่จ้างชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีหลายประการ และให้การว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเกินกำหนด ๑ ปี นับแต่โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิด คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นอนุญาตคำขอของจำเลยที่ ๒ ให้เรียกบริษัทธนกิจประกันภัย จำกัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกับจำเลยทั้งสอง และต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเช่นเดียวกัน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวนหนึ่ง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์อีกจำนวนหนึ่งพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาเกี่ยวกับอายุความฟ้องร้องตามฎีกาจำเลยนั้นข้อเท็จจริงได้ความจากการนำสืบของโจทก์นั้นเองว่า หลังเกิดเหตุรถยนต์โจทก์ถูกรถยนต์จำเลยที่ ๒ ซึ่งมีจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ด้วยความประมาทชนได้รับความเสียหายตามฟ้องแล้ว ต่อมาในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๑๘ นายนิยม จิ้วจิ้น นักเกษตรเอก ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดกรมโจทก์ และได้รับมอบหมายจากกรมโจทก์ให้เดินทางไปสังเกตการณ์และสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุรถยนต์โจทก์ถูกชน ก็ได้ทำบันทึกรายงานแจ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดเหตุขึ้น พร้อมกับแจ้งถึงตัวผู้เป็นเจ้าของรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ร.น.๐๐๕๖๒ ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างผู้ขับดังปรากฏตามรายงานข้อ ๗ ในบันทึกเอกสารหมาย จ.๕ ว่า “กระผมได้ไปพบเจ้าของรถบรรทุกร.น.๐๐๕๖๒ และตันแทนบริษัทธนกิจประกันภัย จำกัด (นายธัญญะ เอื้ออารี)เพื่อเรียกร้องการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งทางบริษัทธนกิจประกันภัยได้ตกลงเป็นหลักการไว้ว่า ยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายโดยจะซ่อมแซมรถยนต์แลนด์โรเวอร์ก.ท.ฬ.-๑๐๒๑ ให้อยู่ในสภาพเดิม” ซึ่งในท้ายบันทึกหมาย จ.๕ ดังกล่าว ได้มีข้อความของเจ้าหน้าที่ไว้ว่า “เสนอกรมเพื่อโปรดทราบ” ซึ่งหมายความว่าให้นำเสนอให้นายภักดีลุศนันท์ อธิบดีกรมโจทก์ในขณะนั้น ได้รับทราบถึงเรื่องที่เกิดเหตุรถชนกันและทราบถึงตัวผู้จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ต่อมานายภักดี ลุศนันท์ อธิบดีกรมโจทก์ได้มีบันทึกสั่งการไว้ในท้ายบันทึกรายงานของนายนิยม จิ้วจิ้น ลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๑๘ ว่า ๑. การตกลงกับบริษัทประกันภัย และเจ้าของรถบรรทุกต้องมีลายลักษณ์อักษร ๒. ทำรายงานไปกระทรวงการคลัง ๓. ตั้งกรรมการสอบผู้รับผิดชอบทางแพ่งตามระเบียบซึ่งต่อมานางเฉลิมศรี วัชรคุปต์ ประธานกรรมการสอบสวนตัวผู้รับผิดในทางแพ่งตามที่กรมโจทก์ตั้งขึ้นก็ได้ทำรายงานความเห็นต่ออธิบดีกรมโจทก์ดังปรากฏตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.๖ หน้าที่ ๓ ดังนี้ เห็นว่า รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ร.น.๐๐๕๖๒เป็นฝ่ายผิด ซึ่งเจ้าของรถยนต์ดังกล่าวจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมวิชาการเกษตรแต่เนื่องจาก ๑. กรณีเหตุเกิดเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๑๘ อันเป็นวันที่เกิดการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๑๘(ตามเอกสารหมายเลข ๑๐) แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๘ บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ร.น.๐๐๕๖๒ นั้น ขาดอายุความแล้ว ผู้รับผิดชอบย่อมปฏิเสธได้
จากข้อเท็จจริงตามที่ได้ความดังกล่าว ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กรมวิชาการเกษตร โจทก์ โดยนายภักดี ลุศนันท์ อธิบดีในขณะนั้นได้รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้แก่จำเลยแล้วตั้งแต่วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๑๘ ตามที่นายภักดี ลุศนันท์ อธิบดีกรมโจทก์ได้เขียนบันทึกสั่งการไว้ท้ายบันทึกรายงานของนายนิยม จิ้วจิ้น ซึ่งแม้แต่นางเฉลิมศรี วัชรคุปต์ ประธานกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่โจทก์แต่งตั้งขึ้น ก็ยังให้ความเห็นว่าการจะฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเจ้าของรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับประมาทอันเป็นมูลละเมิดนั้น ขาดอายุความแล้ว ดังนี้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นเวลาพ้นหนึ่งปีแต่วันที่โจทก์ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยผู้ต้องรับผิดดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์