แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าอาคารและที่ดินของโจทก์มีข้อความว่าเช่ามีกำหนด 1 ปี เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว ถ้าไม่มีการทำสัญญาเช่ากันใหม่ ผู้เช่าจะต้องขนย้ายออกจากที่เช่าภายใน 30 วันถ้าไม่ขนย้ายออกไปจะต้องเสียค่าเสียหายเป็นรายวันๆละ 100 บาทให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเงินค่าเช่าและค่าเสียหายซึ่งโจทก์จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ในการที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่า ดังนี้จำเลยที่ 2 จะบอกเลิกการค้ำประกันเมื่อครบกำหนด 1 ปี โดยไม่ยอมรับผิดในค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเพราะไม่ออกไปจากที่เช่าไม่ได้ เพราะรูปคดีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699
แม้จะระบุไว้ในสัญญาเช่าว่า เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้ว ผู้เช่าไม่ออกไปจะต้องเสียค่าเสียหายแก่ผู้ให้เช่าวันละ 200 บาทก็ดี เมื่อศาลเห็นว่าค่าเสียหายสูงไปก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าตามควรแก่พฤติการณ์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนด3657 และ อาคารโรงงานเลขที่ 344 เพื่อประกอบอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทำด้วยยาง อัตราค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท กำหนด 1 ปี นับแต่1 มกราคม 2503 เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าหากผู้เช่าไม่ตกลงเช่าต่อและไม่ขนย้ายสิ่งของออกจากสถานที่เช่า ผู้เช่าจะต้องเสียค่าเสียหายให้โจทก์วันละ 200 บาท จนกว่าจะออกไป ในการนี้จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 เรื่องค่าเช่าและค่าเสียหายไว้ให้กับโจทก์บัดนี้ สัญญาเช่าครบกำหนด 1 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 หาได้ขอต่อสัญญาใหม่ไม่ และยังใช้สถานที่เช่าตลอดมา จึงขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยและบริวารออกจากสถานที่เช่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ก็ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ใช้แทน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 รับว่าทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์จริง แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมหรือแทนจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันแต่เฉพาะค่าเช่าเท่านั้นซึ่งจำเลยที่ 1 หาได้ค้างชำระค่าเช่าไม่ และให้การว่า ความเสียหายที่โจทก์ฟ้องเป็นความเสียหายที่เกิดหลังจากวันครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ใช้แต่เท่านั้นในเดือนตุลาคม 2503 ก่อนสัญญาเช่าครบกำหนด จำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะค้ำประกันเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด 1 ปี และได้ขอเลิกสัญญาค้ำประกันโดยสิ้นเชิงแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามโจทก์ฟ้อง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เช่าอาคารและที่ดินของโจทก์ ครบกำหนดแล้วไม่ต่อสัญญา เป็นละเมิดจริงแต่ค่าเสียหายที่โจทก์ขอมาคิดวันละ 200 บาทนั้น เป็นการเกินสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เท่าจำนวนค่าเช่าในสัญญา คือเดือนละ1,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ต้องรับผิดต่อโจทก์ในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ขนย้ายและส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้โจทก์ตามสัญญาเช่าจนกว่าจำเลยที่ 1 จะปฏิบัติตามสัญญาเช่าเรียบร้อยบริบูรณ์ทุกข้อ การที่จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาค้ำประกันเมื่อก่อนครบกำหนดการเช่า และโจทก์ไม่ยินยอมนั้นไม่มีผลให้จำเลยที่ 2 พ้นจากความรับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน พิพากษาขับไล่ จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่เช่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายถึงวันฟ้อง2 เดือน เป็นเงิน 2,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ถึงวันฟ้อง 2 เดือน 12,000 บาท และค่าเสียหายวันละ 200 บาทแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะออกไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกอุทธรณ์จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในความเสียหายรายนี้ เพราะเป็นความเสียหายที่เกิดจากจำเลยที่ 1 กระทำขึ้นภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดการเช่าแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันล่วงหน้าก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดอีกด้วย
ศาลฎีกาพิเคราะห์สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์แล้ว ข้อ 1 มีว่า “ข้าพเจ้าขอค้ำประกันจำนวนเงินค่าโรงงานและที่ดินตลอดจนเงินค่าเสียหายต่าง ๆ ซึ่งผู้ให้เช่าจะเรียกร้องจากผู้เช่าในการที่ผู้เช่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาฯ” ข้อ 2 มีว่า”ถ้าผู้เช่าไม่ชำระเงินค่าเช่าฯ” ผู้ค้ำประกันต้องชำระแทน” ข้อ 3 มีว่า “ถ้าผู้เช่าเกิดล้มตายหรือหลบหลีกหนีหาย ผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้ชดใช้ค่าเช่าโรงงานและที่ดิน และค่าเสียหายต่าง ๆ ที่ผู้เช่าจะต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่าทั้งสิ้น” ส่วนสัญญาเช่าที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์นั้น มีความว่า เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว ถ้าไม่มีการทำสัญญาเช่าต่อกันใหม่ ผู้เช่าจะต้องขนย้ายเข้าของออกจากที่เช่าภายใน 30 วัน ถ้าไม่ขนย้ายออกไป ผู้เช่าจะต้องเสียค่าเสียหายเป็นรายวัน ๆ ละ 100 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาเช่าและสัญญาค้ำประกันนี้ ผู้ค้ำประกันนอกจากจะต้องรับผิดในเงินค่าโรงงานและที่ดิน และเงินค่าเช่าโรงงานและที่ดินแล้ว ยังต้องรับผิดในเงินค่าเสียหายต่าง ๆ ที่ผู้เช่าจะต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่านั้นอีกด้วย ไม่มีทางให้แปลสัญญาไปในทำนองที่ว่า ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังวันครบกำหนดในสัญญาเช่านั้นได้เลย ทั้งสัญญาค้ำประกันก็ไม่มีข้อความระบุค้ำประกันแต่เฉพาะเงินค่าเช่าเท่านั้นจริงอยู่ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นภายหลังวันครบกำหนดสัญญาเช่า แต่ก็เป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่า ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาเช่านั้นไว้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์การที่จำเลยที่ 2 เคยบอกล่วงหน้าขอเลิกสัญญาค้ำประกันก่อนสัญญาเช่าครบกำหนดนั้นรูปคดีก็ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699 จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาค้ำประกัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นอยู่แล้วได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับค่าเสียหายนั้น คดียังฟังไม่ได้ชัดว่าโจทก์ต้องเสียหายไปเพราะการผิดสัญญาเช่าของจำเลยที่ 1 เป็นเงินเดือนละ 6,000 บาท ดังที่ฟ้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดความเสียหายให้แก่โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดี ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณายกเหตุผลไว้แล้วนั้นฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์