แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณาคดีล้มละลาย ย่อมผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญเพราะพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายได้บัญญัติไว้ในมาตรา 14 ว่าในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้นศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่สองแสนบาทเศษแต่พยานโจทก์เบิกความรับว่าจำเลยถือหุ้นในบริษัทจำกัดแห่งหนึ่งซึ่งชำระเงินค่าหุ้นแล้วถึงสามแสนบาทเกินจำนวนที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ และจำเลยยังเป็นผู้จัดการบริษัทอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ตามบัญชีทรัพย์ซึ่งจำเลยแนบมาในคำร้องขอสืบพยานจำเลยยังปรากฏว่า จำเลยมีทรัพย์สินอันมีมูลค่ากว่าเก้าแสนบาท การที่ศาลชั้นต้นรวบรัดฟังคำพยานโจทก์ฝ่ายเดียวว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วมีคำสั่งพิทักษ์จำเลยเด็ดขาดโดยไม่ฟังพยานจำเลยเสียเลยนั้น ย่อมไม่เพียงพอต่อการพิจารณาหาความจริงดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษารวม 256,425 บาทจำเลยไม่มีทรัพย์สินชำระหนี้ สันนิษฐานได้ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาว่าจำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่าจำเลยมีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ได้
ชั้นพิจารณาเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ ในวันนัดสืบพยานจำเลยจำเลยและทนายไม่มาศาลและไม่มีพยานของจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นจึงสั่งงดสืบพยานจำเลยโดยถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ แล้วนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ก่อนถึงวันนัดจำเลยยื่นคำร้องขอสืบพยานอ้างว่าไม่จงใจขาดนัด ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์โดยถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ในที่สุดศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลย แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ย่อมผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญเพราะพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 14 ว่า “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง” คดีนี้พยานโจทก์เบิกความรับว่า จำเลยมีหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทไทยแคนาดาไดรบ๊อตเตอลิ่ง จำกัด และจำเลยยังเป็นผู้จัดการบริษัทสหวิเทศ จำกัด เจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ให้การได้ว่าจำเลยถือหุ้นอยู่ในบริษัทไทยแคนาดา ไดรบ๊อตเตอลิ่ง จำกัด 3,000 หุ้น ชำระเงินเต็มมูลค่าแล้ว ซึ่งมีราคาถึง 300,000 บาท เกินจำนวนที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์เสียอีก และจำเลยยังแนบบัญชีทรัพย์มาในคำร้องขอสืบพยานจำเลยว่า จำเลยมีทรัพย์สินอันมีมูลค่ากว่าเก้าแสนบาทที่พยานโจทก์เบิกความว่าบริษัทที่จำเลยถือหุ้นนั้นเพิ่งจะผลิตสินค้าจำหน่ายประมาณ 1 ปี หุ้นของบริษัทดังกล่าวไม่มีราคาและจำเลยมิได้เกี่ยวข้องกับบริษัทสหวิเทศ จำกัด แล้วนั้นก็เป็นเพียงคำเบิกความของนายวิจิตร ยืนนานพยานโจทก์ผู้เดียวลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน การที่ศาลชั้นต้นรวบรัดฟังคำพยานโจทก์ฝ่ายเดียวว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดโดยไม่ฟังพยานจำเลยเสียเลยนั้น จึงไม่เพียงพอต่อการพิจารณาหาความจริงดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลยแล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน