คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำชี้ให้จำเลยที่ 3ก่อสร้างรั้วรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ16 ตารางวา เมื่อรั้วที่จำเลยที่ 3 ก่อสร้างตามที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 นำชี้รุกล้ำที่ดินของโจทก์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2จะอ้างว่าเป็นการกระทำเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 ไม่ได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์กรมธนารักษ์จำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าจึงมีคำสั่งให้ ว. ไปรังวัด พบว่าจำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วเกินเขตที่เช่าไปประมาณ 1.80 เมตร จึงให้จำเลยที่ 3 รื้อรั้วออกไปแล้วก่อสร้างใหม่ให้อยู่ในแนวเขตที่เช่า แต่โจทก์อ้างว่ารั้วที่ก่อสร้างใหม่ยังคงรุกล้ำที่ดินของโจทก์อยู่อีกจำเลยที่ 2 ได้ให้ ว. ไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งและได้มีหนังสือนัดให้ทนายโจทก์และจำเลยที่ 3 ไปร่วมตรวจสอบ ก็ไม่ปรากฏว่ารั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด มาปรากฏว่ารั้วรุกล้ำเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปตรวจสอบ การที่โจทก์กล่าวหาว่าก่อสร้างรั้วรุกล้ำแนวเขตที่ดินสืบเนื่องมาจากโฉนดที่ดินที่พิพาทเป็นโฉนดที่ดินแบบเก่า การโต้แย้งของกระทรวงการคลังจำเลยที่ 1 และกรมธนารักษ์จำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ที่ดินของรัฐ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายโดยตรง จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3ในฐานะผู้เช่าจะต้องยึดถือตามแนวเขตที่จำเลยที่ 2 นำชี้หาใช่เป็นการกระทำโดยพลการไม่การก่อสร้างรั้วก็กระทำตามที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ยืนยันแนวเขตที่เช่า ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำการโดยสุจริต ไม่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7244 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 511 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลจัดการที่ดินของจำเลยที่ 1โดยให้จำเลยที่ 3 เช่าดำเนินกิจการโรงเรียนผ่องอำไพศึกษาประมาณปลายปี 2534 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ชี้แนวเขตและอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วโรงเรียนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือเป็นเนื้อที่ประมาณ 16 ตารางวาโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รื้อถอนแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกเฉย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2536โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินของโจทก์แก่นายบัณฑิต ไชยกูลเป็นเงิน 83,600,000 บาท วางมัดจำแล้ว 3,600,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 โดยโจทก์ต้องดำเนินการย้ายรั้วซึ่งรุกล้ำที่ดินของโจทก์ภายในวันที่11 พฤษภาคม 2536 โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบถึงภาระและข้อสัญญาดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสามไม่รื้อถอนรั้วที่รุกล้ำทำให้โจทก์เสียหาย เนื่องจากนายบัณฑิตปฏิเสธที่จะชำระราคาส่วนที่เหลือจนกว่าจะมีการรื้อถอนรั้วออกไปยังแนวเขตที่ถูกต้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนรั้วด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 511 ออกไปจากที่ดินของโจทก์ และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี ของต้นเงิน 80,000,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนรั้วออกไป
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นเพียงผู้ให้จำเลยที่ 3 เช่าที่ดิน แต่มิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องหรือชี้แนวเขตอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วโรงเรียนผ่องอำไพศึกษารุกล้ำที่ดินของโจทก์ ทั้งแนวรั้วดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินที่ราชพัสดุของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่จำต้องรื้อถอน โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะรั้วโรงเรียนของจำเลยที่ 3 มิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ทั้งยังไม่แน่นอนว่าหากรื้อถอนรั้วออกไปแล้ว นายบัณฑิตจะชำระราคาที่ดินแก่โจทก์ตามสัญญาหรือไม่ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เช่าที่ดินตามฟ้องของจำเลยที่ 1 เพียงบางส่วน จำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วโรงเรียนขึ้นก่อนโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์และผู้จะซื้อรู้อยู่แล้วว่ารั้วอยู่ ณ จุดใด การที่โจทก์เสี่ยงภัยทำสัญญาโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้จะซื้อได้รับประโยชน์ จึงเป็นความบกพร่องของโจทก์เองจำเลยที่ 3 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชี้แนวเขตและอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วซึ่งเป็นรั้วไม้ปักในสภาพง่าย ๆ ไม่มีลักษณะแน่นหนาแข็งแรงจำเลยที่ 3 พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายรั้วตลอดเวลาหากมีการรุกล้ำแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยอมรับว่ารั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์หากจำเลยที่ 3 เคลื่อนย้ายโดยพลการย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญาขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนรั้วทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 511 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7244ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 80,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงิน 648,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 7244 ด้านทิศเหนือติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 511 ของจำเลยที่ 1 โดยมีลำกระโดงกั้นจำเลยที่ 2 ผู้ดูแลที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3เช่าที่ดินบางส่วนด้านที่ติดที่ดินของโจทก์ดำเนินกิจการโรงเรียนผ่องอำไพศึกษา จำเลยที่ 3 ได้ก่อสร้างรั้วโรงเรียนโดยมีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ชี้แนวเขตเป็นเหตุให้โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่โจทก์อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2มีฐานะเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ จำเลยที่ 2 เป็นกรมในสังกัดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลที่ราชพัสดุ จำเลยที่ 3 ได้เช่าที่ราชพัสดุตามเอกสารหมาย ล.1/1 เมื่อปลายปี 2534 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำชี้ให้จำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 45 ตารางวาและโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รื้อถอน จำเลยที่ 2 และที่ 3 รื้อถอนรั้วแล้วแต่ยังคงรุกล้ำเป็นเนื้อที่ประมาณ 16 ตารางวา นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 เคยมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ส่งเจ้าหน้าที่มาชี้แนวเขตเพื่อที่ทำรั้วล้อมรอบที่ดิน และหนังสือขออนุมัติก่อสร้างรั้วจากจำเลยที่ 2ตามเอกสารหมาย ล.3/2 และ ล.3/3 ดังนั้น เมื่อรั้วที่จำเลยที่ 3ก่อสร้างตามที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 นำชี้รุกล้ำที่ดินของโจทก์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จะอ้างว่าเป็นการกระทำเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 ไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า การที่จำเลยที่ 3ก่อสร้างรั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์นั้นจะถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยนำสืบว่าเมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้นางวัชรีย์ หนูเจริญ ไปทำการสำรวจรังวัดพบว่าจำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วเกินเขตที่เช่าไปประมาณ 1.80 เมตรจึงให้จำเลยที่ 3 รื้อรั้วออกไปแล้วก่อสร้างใหม่ให้อยู่ในแนวเขตที่เช่า แต่โจทก์อ้างว่ารั้วที่ก่อสร้างใหม่ยังคงรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ให้นางวัชรีย์ไปสำรวจตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งและได้มีหนังสือนัดให้ทนายโจทก์และจำเลยที่ 3 ไปร่วมตรวจสอบ และแม้หลังจากฟ้องคดีแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังให้นายสุทธิพร คงวุธ และนายธีรธร แช่มสนิท เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ทำการตรวจสอบอีกไม่ปรากฏว่ารั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด แต่มาปรากฏว่ารั้วรุกล้ำเมื่อนายประสิทธิ์ ศรีคะนองเกียรติ เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียน ไปตรวจสอบเมื่อพิจารณาประกอบกับการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาที่หลวงหรือที่ราชพัสดุ ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวหาว่าก่อสร้างรั้วรุกล้ำแนวเขตที่ดินอันสืบเนื่องมาจากโฉนดที่ดินที่พิพาทเป็นโฉนดที่ดินแบบเก่าการโต้แย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ที่ดินของรัฐ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายโดยตรง จำเลยที่ 1และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์ส่วนจำเลยที่ 3ในฐานะผู้เช่า ย่อมไม่สามารถทราบแนวเขตที่ดินที่แท้จริงจึงมีหน้าที่จะต้องยึดถือตามแนวเขตที่จำเลยที่ 2 นำชี้หาใช่เป็นการกระทำโดยพลการไม่ การก่อสร้างรั้วก็กระทำตามที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ยืนยันแนวเขตที่เช่า ถือได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำการโดยสุจริต ไม่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share